นโยบายรัฐทำให้โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนไม่โตตามเป้า ขณะที่ภาคธุรกิจรอการส่งเสริมจากบีโอไอ

44. PJSLRooftopGov

สรุปประเด็นหลัก

  • โครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนซึ่งติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่พักอาศัย ไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคารับซื้อคืนไม่จูงใจ และการขออนุญาตก็มีหลายขั้นตอน ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 
  • โครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตโซลาร์รูฟท็อปในภาคธุรกิจมีการเติบโต แต่อาจจะต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหลังจากมาตรการส่งเสริมหมดอายุลงภายในสิ้นปีนี้

 

บทนำ

          การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น Prosumer ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมและกำหนดนโยบายจากภาครัฐและอุปกรณ์การติดตั้งที่มีราคาถูกลง
อย่างมาก 

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อนำเสนอสถานการณ์โครงการโซลาร์รูฟท็อปของประเทศไทย

 

โครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย

          โครงการโซลาร์รูฟท็อปหรือการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเป็นโครงการหนึ่งที่รัฐ
มีนโยบายสนับสนุน โดยในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2555 – 2564 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่ติดตั้งบนหลังคา จำนวน 200 เมกะวัตต์สูงสุด มีการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

(1) บ้านที่อยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์สูงสุด รับซื้อ 6.96 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)

(2) อาคารธุรกิจ ขนาดกำลังการผลิต > 10 – 250 กิโลวัตต์สูงสุด รับซื้อ 6.55 บาท/kWh

(3) อาคารธุรกิจขนาดใหญ่หรือโรงงาน ขนาดกำลังการผลิต > 250 – 1,000 กิโลวัตต์สูงสุด รับซื้อ 6.16 บาท/kWh โดยแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559

          ในปี พ.ศ. 2559 มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 130 เมกะวัตต์ จำนวน 6,166 ราย แบ่งเป็นประเภทบ้านที่อยู่อาศัย 48 เมกะวัตต์ จำนวน 6,002 ราย และประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงาน 82 เมกะวัตต์ จำนวน 164 ราย ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้งานเอง มีผู้สนใจติดตั้งมากขึ้น พบว่าในปีพ.ศ. 2561 กำลังการผลิตสะสม 463.55 เมกะวัตต์ จำนวน 1,223 ราย 

          ทั้งนี้ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้เองซึ่งเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า โดยที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในรูปแบบนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 และเพิ่มจำนวนมาอย่างต่อเนื่อง โครงการโซลาร์รูฟท็อปตามแผนฯ ดังกล่าว ได้รับความสนใจ ทั้งจากกลุ่มอาคารโรงงาน กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มบ้านพักอาศัย เข้าร่วมโครงการจำนวน 6,002 ราย จำนวนผลิตไฟฟ้า 48 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพราะนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าราคาต่อหน่วยที่สูงทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก 

 

โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน เป้า 1,000 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี 

          ภายหลังจากที่สิ้นสุดโครงการสนับสนุนจากภาครัฐในการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปแบบ FiT เมื่อปีพ.ศ. 2559 ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ ได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เห็นชอบโครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างเสรี ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน และได้มีโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี พ.ศ. 2559 เพื่อสาธิตการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และเมื่อโครงการแล้วเสร็จพบว่า มีกำลังการผลิตรวม 5.63เมกะวัตต์สูงสุด มีผู้เข้าร่วมจำนวน 180 ราย

          หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกเกณฑ์ที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือที่เรียกว่า “โซลาร์ภาคประชาชน” (หรือบางครั้งเรียกว่าภาคครัวเรือน) โดยมีรายละเอียด คือ (1) มีขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (2) รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้เองในราคาไม่เกินหน่วยละ 1.68 บาท โดยมีระยะเวลารับซื้อ 10 ปี (3) ยอดรวมที่ติดตั้งทั่วประเทศไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี (4) ต้องเดินกระแสไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2562 และ (5) อาศัยหลักการผู้ยื่นขออนุญาตก่อนได้ก่อน จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยให้ยื่นขออนุญาตในระหว่างเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยมีผู้สนใจสมัครคิดเป็นจำนวนรวมการผลิต 3 เมกะวัตต์ แต่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการติดตั้งเพียง1.8 เมกะวัตต์ เท่านั้น 

          หลังจากโครงการโชลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ทำให้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนเป้าหมายให้มีการเปิดรับซื้อโซลารูฟท็อปภาคประชาชน เหลือจำนวน
50 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2567) ลดลงจากแผน PDP 2018 เดิม ที่บรรจุให้ดำเนินการ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี

 

ราคาไม่จูงใจและยุ่งยากในการดำเนินการ

          โดยสาเหตุที่ต้องปรับลดปริมาณการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2562 มีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 1.8 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ต่อปี เพราะมีอุปสรรคหลายประการ เช่น ราคาที่ภาครัฐรับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย ไม่จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมโครงการ ความยุ่งยากในการดำเนินการ และไม่มีเงินทุนสนับสนุน ทั้งนี้ ก่อนที่กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกเกณฑ์ที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำรายงานการศึกษา “โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี” และมีการนำเสนอรายงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งในรายงานการศึกษาดังกล่าวก็ระบุถึงนโยบายไม่จูงใจ เช่น การประกาศรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน/ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย การเปิดรับสมัครเป็นช่วงสั้น ๆ เมื่อกับเทียบเวลาที่ต้องขอใบอนุญาต (ระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วัน)

          อุปสรรคอีกอย่างเป็นเรื่องการกำกับดูเเลซึ่งเป็นปัญหาในระดับการปฏิบัติ ทำให้การดำเนินโครงการไปไม่ถึงจุดหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันการขอใบอนุญาตมีหลายประเภท ต้องมีใบอนุญาตหลายใบ ทำให้ต้องเดินทางไปหลายหน่วยงาน แต่ผู้สมัครไม่สามารถติดตามสถานะการสมัครได้สะดวก ทั้งยังขาดตัวกลางที่จะประสานงานในการให้ข้อมูล นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีมาตรฐานความปลอดภัยโดยวิศวกรรมสถานฯ (วสท.) แต่ไม่ถูกบังคับใช้ และ Private PPA หรือหน่วยงานเอกชนที่จะมาเป็นตัวกลางเพื่อลงทุนให้กับประชาชนรายย่อย ไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้าฯ ได้ จึงยากต่อการขยายผลต่อธุรกิจ 

          ประเด็นต่อมาคือ การขาดการเก็บข้อมูล ไม่มีข้อมูลสำหรับการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของโซลาร์รูฟท็อป ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระบบโซลาร์รูฟท็อป ทำให้ขาดองค์ความรู้ ในงานการศึกษาดังกล่าวได้เสนอแนะให้มีการเก็บข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากทุกระบบที่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าฯ ควบคู่ไปกับการออกนโยบายส่งเสริม เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสามารถวางแผนปรับปรุงระบบจำหน่าย และเพื่อให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและบริหารจัดการ System Load Curve ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผน PDP ที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

          งานวิจัยดังกล่าวยังได้เสนอให้มีการส่งเสริมการผลิตใช้เองในรูปแบบ Net Billing โดยรัฐควรกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนแบ่งตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมทั้งควรกำหนดระยะเวลาการส่งเสริม ตามอายุของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือ 25 ปี รวมถึงปรับเปลี่ยนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนสำหรับโครงการใหม่ที่จะเข้าระบบก่อนปรับค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ทุก ๆ 3 ปี เป็นต้น

          โดยในเรื่องไฟฟ้าย้อนเข้าสู่ระบบจำหน่าย จะเกิดผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าในประเด็นแรงดันและกำลังไฟฟ้าสูญเสีย ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถแก้ไขด้วยการปรับปรุงระเบียบการเชื่อมต่อ (Grid code) ให้สามารถรองรับปริมาณโซลาร์รูฟท็อปได้อย่างเหมาะสม ส่วนผลกระทบต่อระบบผลิตและระบบส่ง อาจช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในเวลากลางวันได้ แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) จะเปลี่ยนมาเป็นกลางคืน ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการโดยเฉพาะการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่อาจมีต้นทุนเพิ่มเติม

 

เปลี่ยนระบบการรับซื้อ – ขาย ไฟฟ้า Net Metering กระตุ้นโซลาร์ภาคประชาชน

          ปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนมีคนสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการน้อยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรับซื้อไฟที่มีราคาถูกในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าในราคา 3.80 บาทต่อหน่วย ซึ่งองค์กรภาคประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดการเรียกร้องเพื่อให้รัฐเปลี่ยนวิธีซื้อขายไฟ จาก Net Billing เป็น Net Metering 

          กรีนพี ประเทศไทย ได้รณรงค์ผลักดันผ่าน Change.org เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปลี่ยนระบบการรับซื้อ – ขาย ไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อประดับครัวเรือน จากระบบ Net Billing เป็น Net Metering เพื่อความเป็นธรรมและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ ชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกรีนพีซระบุว่า การนำร่องรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โครงการ “โซลารูฟท็อปภาคประชาชน” ไม่ใช่การรับซื้อไฟฟ้าของระบบ Net Metering เพราะ กกพ. กำหนดราคาการรับซื้อไฟฟ้าไม่ใช่ราคาเดียวกับราคาที่ขายไฟฟ้าให้กับประชาชน การนำร่องโครงการดังกล่าวของ กกพ. จึงเป็นการหักลบราคาค่าไฟฟ้าไม่ใช่การหักลบหน่วยไฟฟ้า (ระบบ Net Metering มีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าราคาเดียวกับราคาที่ขายไฟฟ้า แต่อัตราในโครงการของ กกพ. ปัจจุบัน รับซื้อไฟฟ้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายไฟฟ้า) ซึ่งการนำร่องดังกล่าวถือเป็นการใช้ระบบ Bill Metering

          โดยมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน (Net Metering) คือ ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้ว เช่น ถ้าปกติครัวเรือนใช้ไฟฟ้า 549 หน่วยต่อเดือน เท่ากับค่าไฟฟ้า 2,192 บาท หากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านทำให้หน่วยไฟฟ้าลดลงเหลือ 355 หน่วย เท่ากับ 1,420 บาท เท่ากับประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 722 บาท

          ปัจจุบันมีหลายประเทศได้ใช้ระบบ Net Metering แล้ว บางประเทศเป็นประเทศยากจน เช่น เคนยา ก็ใช้ระบบ Net Metering ในสหรัฐอเมริกา มีครัวเรือนที่ใช้ Net metering และในบางรัฐของออสเตรเลียใช้ระบบ Net Metering แล้วประมาณ 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด

 

ต้นทุนการติดตั้งลดลงและได้สิทธิพิเศษ BOI ทำให้โซลาร์รูฟในภาคธุรกิจยังไปได้ดี

          ขณะที่โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาขนค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ แต่ปรากฏว่า การเติบโตของโซลาร์รูฟท็อปในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การค้าปลีกกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้แบ่งตามลักษณะการประกอบกิจการได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัลกรุ๊ป ไฮเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด เช่น บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และ เทสโก้ โลตัส 2) กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) อาคารสำนักงาน 3) ผู้ประกอบการตลาดทั่วไป  4) กลุ่มคอมมิวนิตี้มอลล์ เช่น เดอะวอล์ค และ 5) กลุ่มผู้จัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เช่น บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์, บจ.ซีอาร์ซี ไทยวัสดุ, บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ เป็นต้น

          เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการสนใจลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นเพราะที่ผ่านมาต้นทุนวัสดุและค่าติดตั้งลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จากเดิมต้นทุนอยู่ที่ 60 – 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ นอกจากนี้ ผู้รับติดตั้งยังมีโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล และจำลองการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้เห็นภาพก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจลงทุน

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เมื่อปี พ.ศ. 2557 (เดิมหมดเขตการส่งเสริมการลงทุนเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และได้มีการประกาศขยายระยะเวลาการส่งเสริมออกไปอีก 3 ปี หมดเขต 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563) ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับใช้เองเพื่อประหยัดค่าไฟก็เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรการ เพราะถือเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 10 เปอร์เซ็นต์ และยกเว้น VAT อีก 7 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดิน) การได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวทำให้การลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคืนทุนได้ภายใน 3 ปี แทนที่จะใช้เวลา 6 ปีเหมือนเมื่อก่อน

          ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ (BOI) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2561 มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวนรวม 220 เมกะวัตต์ เป็นเงินลงทุน 9,000 กว่าล้านบาท

 

ลำดับ แผน/โครงการ รายละเอียด การเปลี่ยนแปลง ผลการดำเนินงาน
1 แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี
(พ.ศ. 2550 – 2565)
– เริ่มใช้งานปี พ.ศ. 2550

 – เป้าหมาย
การติดตั้ง 500 MW

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า Adder 8 บาท/kWh 

– ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี

พ.ศ. 2550 การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายพบว่ากำลังผลิตสะสมรวม 3.6 เมกะวัตต์
2 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและ
พลังงานทางเลือก 10 ปี (พ.ศ. 2555 – 2564)
– เริ่มใช้งานปี
พ.ศ. 2554

– เป้าหมาย
การติดตั้ง 2,000 MW

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า Adder ลดลงเป็น 6.50 บาท/kWh

 – ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี

 – เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 หยุดรับคำร้องขอขาย
ไฟฟ้าจากโครงการ
พลังงานแสงอาทิตย์
แบบติดตั้งบนพื้นดิน

ต่อมา พ.ศ. 2555 กำลังผลิตติดตั้งสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 357.4 เมกะวัตต์
3 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและ
พลังงานทางเลือก 10 ปี พ.ศ. 2555 – 2564 (ปรับปรุงครั้งที่ 1)
– เริ่มใช้งานปี พ.ศ. 2556 

– เป้าหมาย
การติดตั้ง 3,000 MW

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า FiT โซลาร์รูฟท็อป

– เป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ เมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. 2556

(1) สำหรับบ้านอยู่อาศัย 6.96 บาท/kWh

(2) สำหรับอาคารธุรกิจ
ขนาดเล็กและกลาง 6.55 บาท/kWh

(3) สำหรับอาคารธุรกิจ
ขนาดใหญ่/โรงงาน 6.16 บาท/kWh – ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี

– ปี พ.ศ. 2556 การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายที่ติดตั้งบน
พื้นดิน พบว่ากำลังผลิตสะสม 794.1 เมกะวัตต์

 – โครงการโซลาร์รูฟท็อปขยายระยะเวลา
โครงการ เนื่องจากระเบียบการขออนุญาต
การประกอบกิจการและเรื่องความปลอดภัย โครงการแบ่งเป็นระยะที่ 1 ให้ขายไฟฟ้าภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 และระยะที่ 2 เฉพาะกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 

– วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 โครงการโซลาร์รูฟท็อป 130 เมกะวัตต์ จำนวน 6,166 ราย แบ่งเป็นประเภทบ้านอยู่อาศัย 48 เมกะวัตต์ จำนวน 6,002 ราย และประเภทอาคารธุรกิจ/โรงงาน 82 เมกะวัตต์จำนวน 164 ราย

4 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและ
พลังงานทางเลือก 10 ปี พ.ศ. 2555 – 2564 (ปรับปรุงครั้งที่ 2)
– เริ่มใช้งานปี พ.ศ. 2557 

– เป้าหมาย
การติดตั้ง 3,800 MW

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า

 (1) FiT โรงไฟฟ้าเซลล์แสง
อาทิตย์ 5.66 บาท/kWh (กลุ่มที่มาจาก Adder เดิม)

 (2) FiT โซลาร์รูฟท็อป

 (2.1) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย 6.85 บาท/kWh 

(2.2) สำหรับอาคารธุรกิจ
ขนาดเล็กและกลาง 6.40 บาท/kWh (2.3) สำหรับอาคารธุรกิจ
ขนาดใหญ่/โรงงาน 6.01 บาท/kWh 

– ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี

– ปี พ.ศ. 2557 การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายที่ติดตั้งบน
พื้นดิน พบว่ากำลังผลิตสะสม 1,269.36 เมกะวัตต์

 – การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
แบบเชื่อมต่อระบบจำหน่ายที่ติดตั้งบน
พื้นดิน ในกลุ่ม Adder เดิมที่ยังไม่จำหน่ายไฟฟ้าให้เปลี่ยนมาเป็น
สัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 จำหน่ายไฟฟ้าได้ 969 เมกะวัตต์ จำนวน 165 ราย

5 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและ
พลังงานทางเลือก 20 ปี พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015)
– เริ่มใช้งานปี
พ.ศ. 2558

 – เป้าหมาย
การติดตั้ง 6,000 MW

ปี พ.ศ. 2558 

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า

(1) FiT โครงการโซลาร์ราชการ
และสหกรณ์ ขนาดไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ 5.66 บาท/kWh ปี พ.ศ. 2559 

(2) Pilot Project นำร่องโซลาร์เสรีที่ไม่มี
การรับซื้อไฟฟ้า

(3) FiT โซลาร์รูฟท็อป สำหรับบ้านอยู่อาศัย 6.85 บาท/kWh (เพื่อให้ครบตาม
เป้าหมายของปี พ.ศ. 2556) 

ปี พ.ศ. 2560 – 2561 

– อัตราการรับซื้อไฟฟ้า

(4) FiT โครงการโซลาร์ราชการ
และสหกรณ์ ขนาดไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ 4.12 บาท/kWh 

– การรับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สำหรับการผลิตไฟฟ้า
เซลล์แสงอาทิตย์ ระยะเวลา 25 ปี

(5) การรับซื้อไฟฟ้าจาก
พลังงานหมุนเวียนแบบ FiT สำหรับ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560

– โครงการโซลาร์รูฟท็อประยะที่ 2 เฉพาะกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 

– โครงการโซลาร์รูฟท็อประยะที่ 1 ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ขยายระยะเวลาโครงการและให้ขายไฟฟ้า
ภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 

– Pilot Project นำร่องโซลาร์เสรีที่ไม่มีการรับซื้อไฟฟ้า เสร็จสิ้นโครงการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 กำลังผลิตติดตั้ง 5.63 เมกะวัตต์ จำนวน 180 ราย

– เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ราชการและสหกรณ์ระยะที่ 2 เมื่อสิ้นสุดโครงการ ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 กำลังผลิตติดตั้งสะสม 417.18 เมกะวัตต์ จำนวน 97 ราย โดยที่โครงการโซลาร์ราชการและสหกรณ์
ระยะที่ 1 ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 กำลังผลิตติดตั้ง 217.87 เมกะวัตต์ จำนวน 52 ราย

– SPP Hybrid Firm ให้สามารถผสมผสานพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า 1 มกราคม พ.ศ. 2563 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

6 โครงการโซลาร์ภาคประชาชน (โซลาร์รูฟท็อป
สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย) เป้าหมายปีละ 100 เมกะวัตต์ระยะเวลา 10 ปี
– เริ่มกำหนด
แนวทางในปี
พ.ศ. 2561

 – ให้เริ่มเกิด
ผลในทาง
ปฏิบัติ ปี พ.ศ. 2562

ปี พ.ศ. 2562

อัตราการรับซื้อไฟฟ้า

– FiT โซลาร์รูฟท็อป สำหรับบ้านอยู่อาศัย 1.68 บาท/kWh

– ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี

ประกาศระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบน
หลังคา สำหรับภาคประชาชน พ.ศ. 2562 ในราชกิจจานุเบกษา 21 พฤษภาคม พ.ศ.2562

 

ตารางที่ 1: ทิศทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2550 – 2561
ที่มา: มติการประชุม กพช. และ กบง. รวมถึงประกาศของสำนักงาน กกพ.
http://pvgis.kmutt.ac.th/pvstatus2018/downloads/PV_status_report_2561.pdf

ปี พ.ศ. ระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์
ติดตั้งบนพื้นดิน ติดตั้งบนหลังคา ติดตั้งบนทุ่นลอย
กำลังผลิตเงินลงทุน

(เมกะวัตต์) (ล้านบาท)

กำลังผลิตเงินลงทุน

(เมกะวัตต์) (ล้านบาท)

กำลังผลิตเงินลงทุน

(เมกะวัตต์) (ล้านบาท)

สะสมถึง 2554 541.1 63,742
2555 621.5 57,073
2556 139.0 18,661 6.2 62
2557 1.0 80 70.8 4,053
2558 1,065.5 69,958 7.9 489
2559 241.6 13,453 6.2 266 0.5 20
2560 16.5 785 35.4 1,288 2.0 84
2561 159.9 7,092 94.1 2,908 4.8 176
สะสมรวม 2,786.1 230,844 220.6 9,066 7.3 280

 

ตารางที่ 2: โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ (BOI)
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)http://pvgis.kmutt.ac.th/pvstatus2018/downloads/PV_status_report_2561.pdf

โครงการ จำนวน (ราย) กำลังการผลิตสะสม (เมกะวัตต์สูงสุด)
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2556
6,135 129.68
โครงการนำร่อง (Pilot project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี พ.ศ. 2559 180 5.63
การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้งานเอง พ.ศ. 2561 1,223 463.55
รวม 7,538 598.86

 

ตารางที่ 3: การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ปี พ.ศ. 2556 – 2561
ที่มา: กฟภ., กฟน., สำนักงาน กกพ., พพ. http://pvgis.kmutt.ac.th/pvstatus2018/downloads/PV_status_report_2561.pdf

 

บทสรุป

          การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้งานเองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของภาคการผลิตและธุรกิจบริการต่าง ๆ เนื่องจากราคาไฟฟ้าใกล้เคียงกับราคาไฟฟ้าปกติ และด้วยราคาค่าติดตั้งที่ถูกลงอย่างมาก ทำให้ภาคธุรกิจที่ใช้ไฟในช่วงเวลากลางวัน เล็งเห็นความคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคธุรกิจอาจจะต้องรอดูว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะมีโยบายเรื่องติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อลดค่าใช้จ่ายอย่างไร หลังจากที่คำขอการลงทุนจะหมดอายุในสิ้นปีนี้ 

          ในขณะที่โครงการโซลาร์รูฟภาคประชาชนยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคหรือไม่อย่างไร ไม่เช่นนั้นโอกาสที่โครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะหยุดนิ่งก็มีสูงมาก แม้ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์ โดยให้ทำการศึกษาภายใน 60 วัน (นับตั้งแต่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563)โดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะเข้ามาพิจารณาปัญหาและอุปสรรคของการติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน รวมถึงราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเมื่อเสนอไปแล้วฝ่ายนโยบายด้านพลังงานจะเห็นด้วยหรือไม่

 

อ้างอิง

สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2560).  รายงานผลการศึกษา โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรี ปี 2560. จาก http://www.eri.chula.ac.th/eri-main/wp-content/uploads/2017/09/1_Policy-Proposal-and-Rationale.compressed.pdf, http://www.eri.chula.ac.th/eri-main/wp-content/uploads/2017/09/Solar-Rooftop-Recommendations_FinalVersion-2.pdf, และ http://www.eri.chula.ac.th/eri-main/wp-content/uploads/2017/09/4_Barriers-and-Proposed-Solutions-to-Rooftop-Final-Version-V1.pdf 

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.). (ม.ป.ป.).  รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้า ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561. จาก http://pvgis.kmutt.ac.th/pvstatus2018/downloads/PV_status_report_2561.pdf 

จริยา เสนพงศ์. (2562).  Net Metering รับซื้อไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเป็นธรรม. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/6534/what-is-net-metering/

กรุงเทพธุรกิจ. (2257).  ‘ดุสิต’ กับบทบาทสปช.ดัน ‘โซลาร์รูฟท็อป’ลดพีคไฟฟ้า. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/621867?fbclid=IwAR3kGaWkp0ySgJxWLKmV0sdCYjppkE1KWFO-lkbLCfxaW_YHLW7Q4UfNHhI/

ศูนย์ข่าวพลังงาน. (2563).  “สนธิรัตน์” เร่งโซลาร์ภาคประชาชนต้นแบบภายใน 60 วัน. จากhttps://www.energynewscenter.com/%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%99%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%8b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a0%e0%b8%b2/?fbclid=IwAR2nfEOiJ6j0d3XNKfmHT3bVK-xertArmSlx0zYJ0eiUK_AcAvllSZFu_d4