Solar Café ธุรกิจอยู่รอด โลกอยู่ได้
“ไม่มีการจ้างงานบนดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว”
เพื่อไม่ให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ กลายเป็น ‘ดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว’ นั่นคือจุดเริ่มต้นของกระแสการพูดถึง ‘งานสีเขียว’ และ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ซึ่งเป็นเทรนด์ของงานหรือธุรกิจรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ไม่เน้นเพียงเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ เหล่านั้นด้วย
Solar Café แม้จะไม่ใช่งานใหม่ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากกระแสของธุรกิจสีเขียว แต่มันคือส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ธุรกิจในอนาคต กลายเป็นหนึ่งโมเดลธุรกิจเล็ก ๆ ที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาหมอกควัน แต่นั่นคือแรงบันดาลใจ และ พี่วัตร ศิริวัฒน์ หงส์ศิริวัฒน์ อดีตวิศวกรรุ่นใหญ่ หนึ่งในผู้บุกเบิกคาเฟ่นี้ก็หวังไว้ว่า มันจะกลายเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้คนเมืองเข้าใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
Solar Café คาเฟ่เจ้าของคอนเซ็ปต์ ‘รักสุขภาพจริง ต้องไม่ทิ้งสิ่งแวดล้อม’
ขับรถออกห่างจากตัวเมืองไปเพียงครึ่งชั่วโมง ในมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ร้าน Solar Café ตั้งเด่นติดถนนหลักในตัวมหาวิทยาลัย ถ้าเงยหน้าขึ้นไปเราจะเห็นแผงโซลาร์เซลล์หลายสิบแผง เรียงตัวทำมุม 45 องศาซ้อนกันอยู่เป็นแถว ๆ ดูไปคล้ายเกล็ดปลา แต่ความจริงแล้วแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้มีระยะห่างระหว่างแถวอยู่เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถรับแสงแดดได้อย่างเต็มที่
“อันนี้แถวละ 7 แผง ทั้งหมด 63 แผง ได้พลังงานอยู่ประมาณ 13 กิโลวัตต์ แต่ถ้าปัจจุบัน 1 แผงจะได้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าประมาณ 25 กิโลวัตต์ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วย ได้พลังงานที่สูงกว่าด้วย ปัจจุบันโซลาร์เซลล์เข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก”
พี่วัตรเล่าให้ฟังขณะพาเราขึ้นไปดูพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชั้นบน ซึ่งชั้นบนของร้านนอกจากจะเป็นพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มันยังถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวย่อม ๆ พี่วัตรบอกว่า ใจกลางเมืองที่มีแต่มลพิษแบบนี้ เราหาพื้นที่สีเขียวซึ่งผลิตออกซิเจนได้ยากมาก ในขณะที่นักศึกษาเวลาอ่านหนังสือ สมองของเขาต้องการออกซิเจนจำนวนมาก นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้พี่วัตรสร้างเครื่องผลิตออกซิเจนขนาดย่อมนี้ขึ้นมา
“เดิมทีชื่อร้าน Zero Carbon คอนเซ็ปต์คือไม่ผลิตมลพิษให้สิ่งแวดล้อม แต่พอเราเข้ามาเลยขยายแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มจาก 3 แผงเป็น 12 แผง เพื่อที่จะรองรับลูกค้าได้ทั้งข้างในและข้างนอกมหาวิทยาลัยที่มีคอนเซ็ปต์เดียวกัน คือ รักษ์โลก รักสุขภาพ เราเลยทำร้านนี้ขึ้นมาเป็นอาหารปลอดสาร ผลิตออกซิเจนได้ด้วยและใช้พลังงานสะอาดด้วย”
พลังงานไฟฟ้า 13 กิโลวัตต์ที่ได้ในแต่ละวันจึงกลายเป็นไฟฟ้าที่ถูกใช้ในร้านทั้งหมด
หลอดไฟทุกหลอด แอร์ทุกตัวไปจนถึงเครื่องทำกาแฟล้วนแล้วแต่ใช้พลังงานที่มาจากต้นกำเนิดเดียวกันคือ ‘ดวงอาทิตย์’
เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มทำงาน ประตูร้านก็เริ่มเปิด การทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพจึงไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกวัตถุดิบที่ดี ปรุงอาหารที่อร่อย มีกาแฟที่คัดสรรเฉพาะคุณภาพจากสวนในเชียงใหม่ แต่เรื่องที่คนมักมองข้ามคือ การใช้พลังงาน ซึ่งนั่นทำให้ Solar Café แตกต่างจากร้านอาหารสุขภาพทั่วไป
“ถ้าคุณทำร้านอาหารสุขภาพแต่ไม่สนใจพลังงาน มันจะกลายเป็นคุณผลิตอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องสนใจสิ่งแวดล้อม ในเมื่อคุณทำอาหารสุขภาพแต่คุณทิ้งขยะ เรื่องแบบนี้มันตอบยากนะ แล้วเราไม่อยากเฟลกับมัน”
วิธีคิดแบบ 360 องศา คือมุมมองที่ Solar Café นำมามองเรื่องคุณภาพของร้านแบบครบทุกด้าน
ทำให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ถูกใส่ใจและตระหนักอีกเรื่องหนึ่ง
… แต่โมเดลธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม – ทำได้จริง?
ร้าน Solar Café จึงอาจเป็นหนึ่งในโมเดลเล็ก ๆ ทางธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ ทั้งยังสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยการใช้เทคโนโลยีอย่างโซลาร์เซลล์ได้อีกด้วย
พี่วัตรบอกว่า การทำร้านแบบนี้อย่างแรกที่ควรมองเลยคือเรื่อง จะทำยังไงให้รักษ์โลกได้ด้วย ธุรกิจ
ก็อยู่รอดได้ด้วย? อย่างแรกเลยคือเรื่องจุดคุ้มทุน มันไม่ใช่ว่าจะลดของเสียไปเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถจะคืนทุนได้ ก็ไม่มีใครทำตามได้จริง ๆ ร้านนี้จึงทำในลักษณะที่ให้มันมีคุณภาพจริง ๆ ที่สามารถทำตามได้
โซลาร์เซลล์ จึงไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่มันยังตอบโจทย์ธุรกิจที่อยากสร้างประโยชน์ ลดขยะ และเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มากไปกว่านั้น โซลาร์เซลล์ยังกลายเป็นจุดขายของร้านที่ใครได้ยินว่า Solar Café ก็ยังร้อง ‘ว้าววว’
“พอ เฮ้ย! มันมีร้าน Solar Café นะ แล้วมันว้าว คำว่า ว้าว นี่แหละมันทำให้ทุกคนเริ่มมีแรงกระตุ้น เขาจะเริ่มคิดแล้วว่าถ้าเกิดเป็นไปได้ เราทำที่บ้านเราได้ไหม? อาจจะเริ่มจากไม่กี่แผง กำลังไฟฟ้าไม่กี่วัตต์แล้วค่อยขยายออกไป ถ้ามันไม่มีก้าวเล็ก ๆ อย่างนี้ มันก็ไม่มีก้าวหลาย ๆ ก้าวต่อไปหรอก”