ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าและความเชื่อกับดักการขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

46. PJความมั่นคงและกับดัก

สรุปประเด็นหลัก

  • มีข้อถกเถียงในแวดวงพลังงานว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งจะทำให้ความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศลดลงเท่านั้น เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความผันผวน
  • การศึกษาของนักวิจัยจากหลายสถาบันโต้แย้งว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้มีไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดและบางส่วนไม่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าของประเทศ
  • แม้ว่าแสงอาทิตย์จะมีความผันผวนมากตามสภาพดินฟ้าอากาศ แต่อยู่ในวิสัยที่จะออกแบบระบบมาจัดการได้ไม่ยากนัก แบตเตอรี่ที่ใช้ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้านับวันจะมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทำได้ดียิ่งขึ้น

 

บทนำ

          จริงหรือที่ว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ยิ่งกระทบกับความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในด้านเสถียรภาพของระบบผลิตไฟฟ้า ปัญหา Peak load และ Duck curve ในระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ผลิตมากในช่วงกลางวันแต่ใช้งานมากในช่วงกลางคืน และรัฐต้องมีการสำรองไฟฟ้าไว้ในสัดส่วนเดียวกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์ ภาระตกกับผู้ใช้ไฟฟ้าคนอื่น ๆ และปัญหาค่าใช้จ่ายการวางระบบสายส่ง และการสูญเสียระหว่างทาง เป็นต้น 

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อนำเสนอนโยบายด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของภาครัฐในปัจจุบันซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต

 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์: ความมั่นคงทางพลังงานไทย ?

          ประเด็นดังกล่าวได้มีการพูดถึงมาตลอดนับตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจว่าเป็นพลังงานสะอาด ที่จะมาทดแทนพลังงานฟอสซิล อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และมีการเพิ่มสัดส่วนมากยิ่งขึ้นในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ถึง 10,000 เมกะวัตต์ ประกอบกับอุปกรณ์เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ราคาถูกลงเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้เกิดความนิยมในการติดตั้ง ทั้งในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม 

          แต่แทนที่การคาดการณ์ว่าจะมีการติดตั้งที่มากขึ้น ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองมากขึ้นน่าจะเกิดความมั่นคงกับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ภาครัฐน่าจะสบายใจ แต่กลับเป็นการสร้างความกังวลให้กับภาครัฐอย่างกระทรวงพลังงาน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ผูกขาดไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

          กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเมื่อปีที่ผ่านมาในระหว่างการปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าว่า การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ไม่ควรจะมีสัดส่วนที่มากเกินไปในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP 2018 เนื่องจากเป็นไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียรและราคาของระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานยังคงแพง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมที่ยังเป็นปัญหา โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีปัญหา Duck Curve กล่าวคือ ในช่วงเวลากลางวัน จะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เข้ามาในปริมาณที่มาก ทำให้ กฟผ. ต้องลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าของตัวเองลง แต่ช่วงเวลากลางคืนที่ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ผลิตไม่ได้ กำลังการผลิตวูบหายไปทันที ในขณะที่ กฟผ. ต้องเร่งเดินเครื่องกำลังการผลิตเพื่อเติมให้ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้า

          กรศิษฏ์กล่าวว่า โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ยังมีข้อจำกัดในการหรี่กำลังการผลิตลงได้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น หากหรี่ลงมากกว่านี้โรงไฟฟ้าก็จะดับ ต้องหยุดเดินเครื่องไปเลย การสตาร์ทเครื่องใหม่ ต้องใช้เวลาโดยที่ผ่านมา เราปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ในพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ใช้วิธีสร้างสายส่งเข้าไปรับซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะกลายเป็นต้นทุนที่ไปเก็บกับประชาชน และไฟฟ้าที่ส่งเข้ามาก็สูญเสียในสายส่งไปหมด ซึ่งตรงข้ามกับต่างประเทศ ที่เขาออกแบบให้พลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ให้อยู่ใกล้กับชุมชนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยที่มีการออกแบบระบบไมโครกริด สมาร์ทกริดรองรับ รวมทั้งสามารถที่จะสั่งให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหยุดผลิตได้ หากไปกระทบกับระบบไฟฟ้าโดยรวม ยกตัวอย่างพลังงานลมที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากถูกสั่งหยุดเดินเครื่อง แต่ในกรณีของประเทศไทย ยังไม่มีการสั่งให้หยุดจึงกลายเป็นปัญหาในการบริหารจัดการความมั่นคงของระบบ รวมทั้งข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก ก็ยังไม่ถูกเชื่อมโยงให้ กฟผ. ได้รับรู้ล่วงหน้าด้วย

          ความจริงในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ยังไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของระบบไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศและในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ระบบสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซธรรมชาติ 52 เปอร์เซ็นต์ ถ่านหิน
12 เปอร์เซ็นต์ อนุรักษ์พลังงาน 8 เปอร์เซ็นต์ และซื้อจากต่างประเทศ 9 เปอร์เซ็นต์

          ในช่วงปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการศึกษากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตใช้เอง แม้จะระบุว่ามุ่งจะเก็บกับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ เช่นในกลุ่มโรงงาน หรือห้างสรรพสินค้า ไม่ได้จัดเก็บผู้ผลิตไฟฟ้าจากครัวเรือน โดยอัตราจัดเก็บที่ออกมาเป็นข่าวในช่วงนั้นคือ 100 – 200 บาทต่อเดือน

          นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมนำร่องจัดเก็บอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (Willing change) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการหรือโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฯ ที่หายไปเช่นกัน

          ขณะเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงทุนไปกับงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยไม่กระทบต่อราคา และเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยรวม เช่น โครงการ Smart grid, Smart City, Smart substation, Micro-grid, Energy storage Systems, Battery Farm, Floating Solar, Smart power plant เป็นต้น 

          จากประเด็นดังกล่าว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่บทความ “มอง” ให้เห็นโอกาสของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ จาก 6 ความเชื่อ (Myths) และข้อเท็จจริง (Reality) เกี่ยวกับการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเข้ามาในระบบไฟฟ้า 

          ความเชื่อที่ 1: ความผันผวนที่เกิดจากลมและแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่จัดการไม่ได้ ที่จริงแล้วลมและแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จัดการได้แม้ลมและแดดมีการเปลี่ยนแปลง แต่ระบบไฟฟ้าในปัจจุบันจัดการกับความต้องการใช้ไฟฟ้า (Power demand) ที่มีความผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้น ความผันผวนจากสภาพอากาศของพลังงานหมุนเวียนในระยะสั้นแทบแยกไม่ออกกับความผันผวนเดิมที่มีอยู่ และสามารถจัดการได้ นอกจากนี้ หากมีระบบพลังงานหมุนเวียนกระจายหลายที่ก็จะช่วยให้ความผันผวนโดยรวมหายไป

          ความเชื่อที่ 2 : การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า ต้องมีการปรับการผลิตไฟขึ้น – ลงบ่อยครั้งจะเพิ่มต้นทุนให้ระบบไฟฟ้า โดยต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน จัดการได้ในระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศที่ยังมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนไม่มาก ความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียนจะน้อยมาก แม้ในอนาคตที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนก็มีความสามารถทางเทคนิคในการปรับระดับการผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วและบ่อยครั้งได้ โดยไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และมีเทคโนโลยีพยากรณ์ผลผลิตไฟฟ้า ทำให้ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าให้ใกล้กับเวลาปัจจุบัน (Real-time) มากที่สุด

          ความเชื่อที่ 3 : พลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นต้องมีกำลังไฟฟ้าสำรองไว้ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งพลังงานหมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องสำรองไฟไว้แบบ 1 ต่อ 1 เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง โดยเฉลี่ยไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตสูงสุด ดังนั้น การจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่จำเป็นต้องถึงสัดส่วน 1 ต่อ 1 หรือสำรองเพียงส่วนที่ผลิตไฟฟ้าได้จริงเฉลี่ยต่อปีเท่านั้น

          ผู้ดูแลระบบสามารถใช้วิธีการบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อรองรับความผันผวนนี้ได้ เช่น Demand-side response, battery storage ซึ่งการเตรียมการโดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย จะช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีต้นทุนรวมต่ำกว่าการเตรียมกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจากโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

          ความเชื่อที่ 4 : ต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าแพงเกินไป ทั้งที่จริงต้นทุนโครงข่ายคิดเป็นเพียง 1 ใน10 ของการผลิตไฟฟ้า การปรับปรุงโครงข่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนในการขยายระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อแหล่งพลังงานลมอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ต้นทุนดังกล่าวมักจะผันแปรอย่างกว้าง ๆ หรือคิดเป็นหนึ่งในสิบของต้นทุน ซึ่งการขยายโครงข่ายมีประโยชน์เพิ่มเติมคือ การลดความคับคั่งของโครงข่ายไฟฟ้า (Transmission congestion) และการเพิ่มความมั่นคงในระบบส่งไฟฟ้า

          ความเชื่อที่ 5: ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการรองรับความผันผวน จริง ๆ แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยรองรับความผันผวน เช่น มาตรการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand-side response, DSR) หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าอื่น ๆ อันที่จริงแล้ว ระบบ
กักเก็บพลังงานเป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบของทางเลือกเท่านั้น

          ความเชื่อที่ 6: พลังงานหมุนเวียนไม่มีแรงเฉื่อยจึงลดเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ซึ่งพลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นการช่วยเสริมระบบ ดังนั้น แรงเฉื่อยจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้มีแรงเฉื่อยเพื่อพยุงระบบไฟฟ้าดังเช่นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม แต่ตราบใดที่สัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้ายังน้อยอยู่ ข้อกังวลเรื่องแรงเฉื่อยจะไม่เป็นปัญหา 

          ขณะที่ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นนักวิชาการที่เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเครือข่ายคนกินแดดขึ้นมา ได้โต้แย้งว่า ถ้าประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ และนำไฟฟ้ามาใช้
ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทั้งในครัวเรือนและการเกษตร การพึ่งตนเองได้ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงในชีวิต

          ดร.สมพร มองว่า การที่ประชาชนจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จำนวนมากจนภาครัฐและนักวิชาการกังวลเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มากเกินไปจะกระทบกับความมั่นคงนั้นว่า สนใจอยู่ที่รัฐว่าจะเอาอย่างไร ยกตัวอย่าง การใช้ไฟฟ้าวันอาทิตย์ที่จะเห็นว่า จะต่ำในช่วงกลางวันและจะสูงขึ้นในช่วงหัวค่ำ เพราะครอบครัวเริ่มกลับเข้ามาอยู่บ้านกัน ดังนั้น จะเห็นว่า การไฟฟ้าก็จะสามารถบริหารจัดการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เช่นเดียวกับที่บริหารจัดการไฟฟ้าในช่วงวันหยุด 

          “ประชาชนพึ่งตนเองได้ มันจะเกิดความไม่มั่นคงตรงไหน ผมไม่เข้าใจตรรกะนี้ ฝนตกแดดออก กี่เดือนกี่วัน มีระบบพยากรณ์อากาศอยู่แล้ว และคุณรู้ล่วงหน้าว่า พื้นที่ตรงนี้จะสำรองไฟฟ้าเท่าไร ผมไม่เชื่อว่าระดับวิศวกรที่การไฟฟ้าฯ มีอยู่จะคิดเรื่องนี้ไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่าจะมองเรื่องนี้เป็นข้ออ้าง” ดร.สมพร กล่าวและว่า พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของระบบผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น บ้านเรือนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป และเชื่อมกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า On grid กลางคืนเขาก็จะใช้ไฟจากสายส่งการไฟฟ้าฯ ก็ไปบริหารตรงนี้ ไฟจากกลางวันที่เขาไม่ได้ใช้ การไฟฟ้าฯ ก็เอาไปบริหารขายให้หน่วยงานอื่น ถ้าบอกว่า ระบบผลิตไฟฟ้าของเขาไม่เสถียรหรือาจจะมีปัญหา ตนมองว่า การไฟฟ้าสามารถจัดการได้ ไม่ใช่เรื่องยากในเชิงวิศวกรรม

          ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มี 3 รูปแบบ คือ แบบ Off-grid ไม่พึ่งพาระบบไฟฟ้าจากสายส่งตรงนี้ไม่ต้องกังวลว่า จะกระทบกับระบบสำรองไฟของการไฟฟ้าฯ แบบ On-grid พึ่งพาระบบไฟฟ้าจากสายส่ง สลับใช้เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ และแบบ Hybrid ที่ร่วมใช้กับพลังงานอื่น ๆ เช่นน้ำมัน 

          ดร.สมพร ชี้ว่า รัฐต้องบริหารแบบสมาร์ท อนาคตแบตเตอรี่ที่เก็บไฟจะเก็บได้มากขึ้นและราคาถูกลง การผลิตไฟฟ้าก็จะยิ่งเปลี่ยนโฉมหน้าขึ้นไปอีก ถ้าการไฟฟ้าฯ คิดแต่ว่าจะได้ผลกำไรเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น คิดแบบนั้นก็ตาย จะอ้างว่า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากคนใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และคนอื่น ๆ ต้องแบกรับภาระจากค่าไฟ ประเด็นนี้มันเป็นการผลักภาระให้ประชาชน เพราะตอนนี้ แม้ไม่มีการใช้โซลาร์เซลล์จำนวนที่มาก ๆ คุณก็ผลักภาระให้ประชาชนด้วยการสำรองไฟฟ้าที่มากเกินไป สร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ต่อให้เดินเครื่องหรือไม่เดิน
ทางประชาชนก็ต้องจ่ายค่าพร้อมจ่าย (Ft) ให้การไฟฟ้าฯ เหมือนเดิม

          ดร.สมพร ได้ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นสัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบถึง 25 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 47,000 เมกะวัตต์ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ ในขณะที่ของประเทศไทย พลังงานจากแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีเพียงแค่ 5 – 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  

          อย่างไรก็ตาม ในประเด็นค่าไฟฟ้ามีข้อมูลว่า ในประเทศเยอรมนีมีการใช้พลังงานหมุนเวียน100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขามีระบบสำรองถึง 150 เปอร์เซ็นต์ หากอยากให้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักนอกจากนี้ ในเยอรมนี หากใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 3 บาท ใช้พลังงานหมุนเวียนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 13.60 บาท เป็นต้น

ปี พ..                             กำลังการผลิตสะสม (เมกะวัตต์สูงสุด) กำลังการผลิตรายปี 

(เมกะวัตต์สูงสุด)

เชื่อมต่อระบบจำหน่าย ไม่เชื่อมต่อระบบ รวมทั้งหมด
พพ. หน่วยงานอื่น
2551 4.06 3.20 26.13 33.39 0.89
2552 13.67 3.36 26.13 43.17 9.77
2553 19.57 3.52 26.13 49.22 6.05
2554 212.80 3.91 25.97 242.68 193.46
2555 357.38 4.06 26.13 387.57 144.89
2556 794.07 4.27 25.46 823.80 436.23
2557 1,269.36 4.59 24.56 1,298.51 474.71
2558 1,389.55 4.87 25.16 1,419.58 121.07
2559 2,441.14 (2) 4.98 28.82 2,446.12 1,026.54
2560 2,692.21 (2) 5.05 29.09 2,697.26 251.14
2561 2,958.36 (2) 4.08 26.06 2,962.44 265.18

หมายเหตุ: (1) การลด – เพิ่มของกำลังการผลิตมาจากการรื้อถอนระบบและการติดตั้งเพิ่ม
(2) กำลังการผลิตมาจากรวมทั้งหมดหักไม่เชื่อมต่อระบบฯ ของพพ. เท่านั้น

 

ตารางที่ 1: กำลังการผลิตสะสมและกำลังการผลิตรายปีของระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ปี พ.ศ. 2551 -2561
ที่มา : รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ของประเทศไทย ปี 2561
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

รูปที่ 1: แหล่งพลังงานไฟฟ้าของไทย
ที่มา: กระทรวงพลังงาน

 

รูปที่ 2: กำลังผลิตไฟฟ้ารวมตาม PDP 2018

ที่มา: กระทรวงพลังงาน

 

บทสรุป

          การผลิตพลังงานเพื่อใช้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์นอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ติดตั้งแล้วยังส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม เพราะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบายจึงควรคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดกับส่วนรวมตรงนี้ควบคู่ไปกับต้นทุนในการสำรองไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องการเห็นความสำเร็จในการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็ควรที่จะมุ่งลดข้อจำกัดต่าง ๆ ที่รัฐมองว่าจะเป็นอุปสรรคและสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยในอนาคต Blockchain และ Artificial Intelligence (AI) จะมีบทบาทมากขึ้นต่อรูปแบบนวัตกรรมของเทคโนโลยีพลังงาน รูปแบบการซื้อขายพลังงาน การผลักดันความเป็น Smart City จะมีส่วนในการกำหนดรูปแบบการผลิตและใช้พลังงาน

 

อ้างอิง

วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ และภวินทร์ เตวียนันท์. (2560).  โซลาร์รูฟท็อปกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไฟฟ้า. จากhttps://tdri.or.th/wp-content/uploads/2017/07/Solar-seminar-vFF-1.pdf

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2560).  วงเสวนา วสท. หนุนใช้โซลาร์รูฟท็อปพร้อมระบบเก็บกักพลังงาน แต่รัฐต้องเตรียมไฟฟ้าสำรอง และค่าไฟฟ้าไม่กระทบประชาชน. จากhttps://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2054%3A20170718-art01&catid=49&Itemid=251&fbclid=IwAR2QgzxK6hggdbVzdjhohj4rprtwc5gBrYPJyA7d5rlrbr9PLrU6qxYUBmA 

ศูนย์ข่าวพลังงาน. (2562).  อดีตผู้ว่ากฟผ.ห่วงโซลาร์เซลล์ที่มากเกินไปกระทบความมั่นคงไฟฟ้า. จาก https://www.energynewscenter.com/%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%95%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%9f%e0%b8%9c-%e0%b8%ab%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%8b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a3/?fbclid=IwAR2j9G8A-laySw-ExbwdtJw5w4sRJhUIrsDnZ4h3_5nKRmW9eiTYKIDU0mc 

สำนักข่าวอิศรา. (2560).  อัตราค่าไฟฟ้าสำรองกับความไม่เสถียรของกำลังไฟฟ้าแสงแดด: ปัญหาท้าทายด้านพลังงานไทย. จาก
https://www.isranews.org/isranews-article/57869-powwer.html 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (ม.ป.ป.). “มอง” ให้เห็นโอกาสของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ จาก 6 ความเชื่อ (Myths) และข้อเท็จจริง (Reality) เกี่ยวกับการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเข้ามาในระบบไฟฟ้า. จาก https://tdri.or.th/renewal-energy/?fbclid=IwAR21Mjm1zRzAONo64EDCry5q7eEJ45el1fHIduxz707v1kqtSiLRB0v_E2s  

สัมภาษณ์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

 

preload imagepreload image