สรุปประเด็นหลัก
- ปัจจุบันการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร
- ค่าไฟฟ้าฐาน จะถูกคำนวณใหม่ทุก ๆ 3 ถึง 5 ปี ซึ่งเป็นการคำนวณต้นทุนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในอนาคตแต่ในความเป็นจริงแล้วต้นทุนมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
- ค่าความพร้อมจ่าย คือ ต้นทุนของค่าไฟ ที่รัฐต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าตัวเลขที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการมีมากน้อยเท่าไหร่
บทนำ
โครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คือ ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งจะถูกคำนวณจากรายจ่ายของการไฟฟ้าฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งรายจ่ายที่ว่านี้ก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักอีก คือ 1) ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าฯใช้ในการก่อสร้างขยายระบบการผลิต 2) ต้นทุนในการดำเนินงานและผลตอบแทนการลงทุน 3) ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ส่วนที่สอง คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อค่าเอฟที ซึ่งก็คือค่าไฟฟ้าที่จะถูกคำนวณตามความผันผวนของต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจ รวมถึงวิธีการคำนวณค่าไฟของประเทศไทย
ค่าไฟที่เราจ่ายทุกวันนี้ จ่ายแค่ค่าไฟที่เราใช้เท่านั้นจริงหรือ?
ที่ผ่านมา ตำแหน่งผู้ร้ายในนามของค่าไฟมักตกเป็นของค่าเอฟทีที่ถูกบ่นถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วตามโครงสร้างของค่าไฟในทุกวันนี้มีค่าเอฟทีอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟที่เราจ่ายด้วยซ้ำ จากเอกสารนำเสนอนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 – 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงงาน กระทรวงพลังงาน ได้พบข้อมูลที่ชวนติดตาม และกล่าวไว้ว่า ค่าไฟฟ้าฐาน จะถูกคำนวณใหม่ทุก ๆ 3 – 5 ปี และนั่นก็หมายความว่าค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้ มาจากการทำนายภาพอนาคตว่ากำลังการใช้ไฟฟ้าและต้นทุนต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เช่น ในอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าขนส่งน่าจะเป็นราคานี้ ค่าต้นทุนต่าง ๆ น่าจะเป็นราคานี้ แล้วก็เอาค่าฐานเหล่านี้มาคูณเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเรา ก่อนจะแปลงมาเป็นค่าไฟที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งพอหันกลับมามองความจริงก็พบว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเราเปลี่ยนแปลงอยู่แทบทุกวัน การคำนวณค่าไฟฟ้าฐานโดยอิงจากการประมาณการความน่าจะเป็นในอนาคตนั้น สมเหตุสมผลและเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับบ้านเราจริงหรือไม่?
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ซึ่งถือเป็นต้นทุนแฝงที่รัฐต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าพวกเขาจะเดินเครื่องการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม โดยค่าความพร้อมจ่ายนี้ นอกจากรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องการผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้า ก็ไม่น่าจะมีใครตอบได้ว่ามีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน และถูกเอาไปรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนใดของสัดส่วนในค่าไฟฟ้าฐาน
หากกล่าวถึงความสามารถในการคาดการณ์ต้นทุนและปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้แม่นยำมากเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีเหตุการณ์เช่นการผลิตปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยที่สูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จนเป็นเหตุให้ต้องสั่งหยุดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะปริมาณที่มีอยู่นั้นล้นเกินจะใช้แล้ว และทั้งหมดนั้นฝ่ายรัฐวิสาหกิจจะไม่ต้องแบกความเสี่ยงหากขาดทุนแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขาได้ผลักต้นทุนทุกอย่างมาให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในรูปของค่าไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
บทสรุป
ค่าไฟฟ้าที่ทุกบ้านต้องจ่ายในแต่ละเดือน ที่จริงแล้วนั้น มาจากการทำนายค่าต้นทุนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ประมาณ 3 – 5 ปี รวมกับค่าความผันผวนของต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ‘ค่าเอฟที’ นอกจากนี้ ยังมี ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างของการคำนวณค่าไฟ ซึ่งถูกนำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าฐาน และจากข้อมูลดังที่กล่าวมานั้น พอเห็นภาพได้ว่า ค่าไฟฟ้าที่ทุกคนจ่ายในแต่ละเดือน จะไม่สามารถสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงได้
อ้างอิง
สำนักงานนโนบายและแผนพลังงาน. (2558). นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟของประเทศไทย
2559-2563. จาก http://www.eppo.go.th/images/Power/pdf/Tariff_Structure.pdf