จากพลังงานสะอาด แผงโซลาร์เซลล์กำลังจะกลายเป็นขยะพิษในชุมชน

51. pjCleanEnergy

สรุปประเด็นหลัก

  • แผงโซลาร์เซลล์จะทยอยหมดความคุ้มค่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2601 คาดว่า ของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2588 และจะมีประมาณสูงถึง 626,301 – 794,840 ตัน
  • ปัจจุบันประชาชนเริ่มใช้งานแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้นทั้งในครัวเรือนและธุรกิจ แต่การศึกษาพบว่า ยังไม่มีการจัดการวัสดุอุปกรณ์ที่หมดอายุใช้งานอย่างถูกต้องเหมาะสมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน

 

บทนำ

          พลังงานแสงอาทิตย์ถูกเรียกว่าเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่เกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยฟอสซิสอื่น ๆ เช่น ถ่านหินหรือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีการประมาณการว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ 200 กรัม ต่อไฟฟ้า 1 kWh ตรงข้ามกับเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น  สำหรับประเทศไทย จากสถิติของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายสะสมรวม 3,532.13 เมกะวัตต์ และแบบที่ไม่เชื่อมต่อระบบจำหน่าย 30.14 เมกะวัตต์และประเทศไทยตั้งเป้าส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2579 หรืออีก 20 ปี ซึ่งประเมินกันว่า เมื่อโซลาร์เซลล์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งานในอีก 20 ปีถัดไป จะทำให้มีปริมาณของเสียสูงถึง 6 – 7 แสนตัน

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากของเสียของแผงโซลาร์เซลล์ หากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี

 

ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์: ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

          ในงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ และคณะ ได้ทำการคาดการณ์ปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ที่เริ่มติดตั้งในไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2545 และจะทยอยหมดความคุ้มค่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2601 พบว่า จะมีน้ำหนักแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นขยะประมาณสูงถึง 626,301 – 794,840 ตัน โดยของเสียจากแผง
โซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2588 ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กระจก อะลูมิเนียม และทองแดง โดยกระจกมีปริมาณรวมถึง 195,403 – 286,475 ตัน จากแผงทุกประเภท อะลูมิเนียมมีปริมาณอยู่ในช่วง 20,000 – 30,000 ตัน และทองแดงมีปริมาณอยู่ในช่วง 1,000 – 2,000 ตัน ส่วนโลหะที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมก็คือตะกั่วจะกลายเป็นของเสีย 134.2 – 198 ตัน และแคดเมียมจำนวน 0.65 – 0.95 ตัน ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องแล้วก็จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อย่างใหญ่หลวง

          สำหรับในต่างประเทศการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพ จะมีการรวบรวมโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานนำมาทำการถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหลังการรวบรวมแล้ว จะมีกรรมวิธีการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่าที่สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยจำแนกตามความยากง่ายและความสมบูรณ์ของวัสดุสุดท้าย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล ดังนี้ 1. การจัดการถอดแยกเบื้องต้นและฝังกลบส่วนที่เหลือ 2. การถอดแยกเบื้องต้น บด และทำการคัดแยกวัสดุหลังการบด 3. การถอดแยกเบื้องต้นและการใช้เครื่องมือในการแยกส่วนกระจกออกไป และ 4. การถอดแยกเบื้องต้นและการแยกส่วนวัสดุให้สามารถนำกลับไปทำแผงโซลาร์เซลล์ได้อีก

          กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ขณะนี้โซลาเซลล์ทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนี้กำจัดไม่ยาก เพราะต้องขึ้นทะเบียนมีระเบียบแบบแผนควบคุมที่รัดกุม ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ติดบนหลังคาบ้านเรือนทั่วไป ในส่วนนี้นำเข้าระบบกำจัดยาก เพราะไม่ทราบจำนวนผู้ติดตั้ง และกฎหมายยังไม่มีการบังคับ

          ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกคู่มือประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) สำหรับผู้ประกอบการกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าต้องจัดการแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 แต่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองว่า ยังไม่ครอบคลุมถึงซัพพลายเออร์ที่นำเข้าแผงและอุปกรณ์ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมีสูงมากขึ้น ประกอบกับราคาแผงและอุปกรณ์ที่ถูกลงอย่างมาก 

          สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะมีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย ทั้งนี้ จากการติดตามดูงานที่ญี่ปุ่นก็พบว่า ข้อเสียของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มีพอสังเขปดังต่อไปนี้   

  1. อากาศโดยรอบร้อนยิ่งขึ้นมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์
  2. พื้นที่ยกสูงเพื่อทำโซลาร์ฟาร์มทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมขังโดยรอบ
  3. โซลาร์ฟาร์มมีอายุไม่เกิน 25 ปี วัสดุอุปกรณ์ที่หมดอายุใช้งานถือเป็นขยะพิษปนเปื้อนโลหะหนักคือ
    แคดเมียม ต้องมีโรงงานกำจัดโดยเฉพาะ มิฉะนั้นจะปนเปื้อนในขยะชุมชนอาจทำให้ประชาชนเป็นโรคอิไตอิไตคือกระดูกผุได้
  4. การตั้งโรงงานเพื่อผลิตแผงโซลาร์เซลล์จะมีการใช้ HC l HF (กรดกัดแก้ว) และ HNO3 จำนวนมาก
    ซึ่งหากมีการจัดการไม่ดีพอจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำเสียจำนวนมาก
  5. โซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาอายุประมาณ 10 – 15 ปี ประสิทธิภาพจะลดลงกลายเป็นขยะพิษที่มีโลหะหนักปนเปื้อนมากทั้งแคดเมียมและปรอท หากรัฐดูแลไม่ดีจะกลายเป็นขยะมหาศาลปนเปื้อนชุมชน

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการติดตามประเด็นเหล่านี้ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ จึงยังไม่ทราบว่ามีการติดตามดูผลกระทบในส่วนอากาศโดยรอบ หรือน้ำท่วมขังพื้นที่ข้างเคียงหรือไม่ แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือประเทศไทยไม่มีโรงงานในการกำจัดแบบครบวงจร พอครบอายุก็จะเกิดขยะจำนวนมาก และยังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้เพื่อควบคุม (กฎหมาย WEE : Waste Electrical and Electronic Equipment) Directive (Directive 2002/96/EC)) ระบุให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดการของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์ โดยต้องจัดให้มีระบบการเรียกคืนและรีไซเคิล ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการ การรายงาน และการเงินที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกออกมา และที่ผ่านมาก็มีโรงงานรีไซเคิลเพียงโรงงานเดียวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นโรงงานที่นำแผงเก่าที่หมดอายุมาเปลี่ยนแผ่นเซลล์เพื่อนำกลับใช้ใหม่ ส่วนแผ่นโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศหรือนำมาบดย่อยซากโซลาร์เซลล์และฝังกลบ

          “ในส่วนของผู้ผลิต Solar farm ขนาดใหญ่ คงไม่มีปัญหา เพราะจะมีการส่งคืนผู้ขาย เพื่อนำกลับไปทำลาย แต่ Solar rooftop ที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการติดตั้ง ประเด็นนี้จะน่ากังวลว่า เขาจะกำจัดอย่างไร และจะใช้กฎหมายฉบับไหน ในเมื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมันไม่ใช่อุตสาหกรรม สุดท้ายก็ไปอยู่กับขยะชุมชน ซึ่งท้องถิ่นก็ใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด แต่ปัญหาคือท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการจัดการขยะของเสียเหล่านี้ ผมมองว่า ขยะ จาก Solar rooftop จะเป็นปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้ารัฐยังไม่มีนโยบายออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร” สนธิกล่าวและบอกว่า ปัจจุบันนี้มีการสนับสนุนให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ทั้งในภาคการเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ และภาคครัวเรือน เมื่อหมดอายุแผงเหล่านี้ไปไหน นอกจากนี้ คนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองเหล่านี้ กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้มีข้อมูลอยู่ว่ามีการใช้กันมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายจะกลายเป็นขยะพิษชุมชน กระทรวงพลังงานต้องรีบออกกฎหมายมาว่า เมื่อแผงหมดอายุจะต้องส่งแผงคืนใครเพื่อทำลาย แต่ในเมื่อเราไม่มีกฎหมาย เขาก็ไม่รู้ว่าจะส่งคืนใคร กลายเป็นของเสียและปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลอง ในดิน ในอนาคต

          สอดคล้องกับงานวิทยานิพนธ์ “การจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งเป็นการติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน โดยพบว่า ผู้ใช้งานนิยมใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบกึ่งตัวนำอื่นที่มิใช่แผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากซิลิคอนผลึกเดี่ยวและแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากอะมอร์ฟัสซิลิคอน โดยแผงที่ใช้มีอายุเฉลี่ย 4.6 ปี สำหรับการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ จากการสำรวจพบว่า มีการจัดการแผงโซลาร์เซลล์อย่างไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีการคัดแยกแผงและอุปกรณ์ประกอบแผงที่หมดอายุการใช้งานก่อนส่งไปกำจัด ส่วนใหญ่เก็บรวบรวมโดยกองทิ้งไว้เฉย ๆ บนหลังคา นอกจากนี้ ผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่เคยรับรู้นโยบายของรัฐและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน

          หากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยังไม่รีบดำเนินการออกมาตรการ กฎหมาย หรือประชาสัมพันธ์กับการจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุอย่างถูกต้อง ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ก็อาจจะกลายเป็นขยะในชุมชน และขยะที่ร้านรับซื้อของเก่า และอาจสร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่นที่เกิดในพื้นที่ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถึง 240 ราย ซึ่งถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ดังกล่าวสูงถึงปีละ 20,000 ตัน ผลจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ไอทองแดงและฝุ่นสารไดออกซินและฟิวแรนจากการเผาทองแดงปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ตะกั่วและแคดเมียมที่เกิดจากการทิ้งและทุบจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ปนเปื้อนในดิน และทำให้มีปริมาณสารตะกั่วเกินกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพดินสำหรับที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมมากถึง 67 เท่า นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขตรวจพบสารตะกั่วในร่างกายของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวทั้งในผู้ใหญ่และเด็กสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดอีกด้วย

กราฟที่ 1: ส่วนประกอบโลหะมีค่าในแผงโซลาร์เซลล์ ระหว่างปี 2545 – 2564
ที่มา: Perez-Santalla, กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น รวบรวมและคำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

บทสรุป

          การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธี ซึ่งอาจส่งผลให้ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้กลายเป็นขยะพิษในชุมชน และอาจสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบได้

 

อ้างอิง

Greenpeace Thailand. (2561).  มายาคติ: แผงโซลาร์เป็นอันตรายเพราะมีส่วนผสมของวัสดุที่เป็นพิษจำนวนมาก. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/2883/renewable-energy-myth-solar-cells-toxic/?fbclid=IwAR0rHejyLTt-4ygPZbrhu69-TxerGsoJoUu00YKsTGsOND9o60-PxlBHQ3s 

กรุงเทพธุรกิจ. (2563).  กรอ.-กฟผ.เล็งตั้งโรงงานกำจัดซากแบต-โซลาร์เซลล์. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863391?fbclid=IwAR3YArIkkF5JeHA5w44mrBZvlNAV5L6KOTdf0dS1xSzsqkhUZBObS27qIF8 

Research Café. (2563).  การจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่า. จาก https://researchcafe.org/solarcell/

ไทยพีบีเอส. (2561).  สุ่มตรวจ “สารโลหะหนัก” กลุ่มเสี่ยงเด็ก 5 ขวบ บ้านฆ้องชัย. จากhttps://news.thaipbs.or.th/content/272760?fbclid=IwAR0rHejyLTt-4ygPZbrhu69-TxerGsoJoUu00YKsTGsOND9o60-PxlBHQ3s 

มนัสนันท์ พิบาลวงศ์. (2559).  การจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์บัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

preload imagepreload image