สรุปประเด็นหลัก
- เป้าหมายและแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
- ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเป้าหมายการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในภาคเอกชน
- นโยบายและแผนพัฒนาด้านพลังงานที่ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเอกชน
บทนำ
นับแต่เริ่มรู้จักการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ประเทศไทยก็เริ่มมีนโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยมา เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power Development Plan: PDP) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (แผน PDP 2018) ฉบับล่าสุด กำหนดเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 10,000 เมกะวัตต์ เพิ่มจากแผน PDP 2015 (พ.ศ. 2558 – 2579) ที่วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้ที่ 6,000 เมกะวัตต์
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยในภาคเอกชน
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
ตามแผน PDP 2018 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562 และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยกรอบเวลาของแผนมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580) นั้น ภาพรวมของกำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 77,211เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580 จากปี พ.ศ. 2560 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 46,090 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ และจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะถูกปลดออกจากระบบ 25,310 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 จะแยกตามประเภทโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2,112 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,740เมกะวัตต์ รับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน (IPP) 8,300 เมกะวัตต์ และแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์
ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 -2580 (Alternative Energy Development Plan : AEDP 2018) ซึ่งสอดรับกับแผน PDP 2018 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ รวม 520 เมกะวัตต์
สำหรับการทำแผน PDP 2018 ได้ทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปีที่ทำแผน และพยากรณ์ ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ซึ่งจะมีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้กระทรวงพลังงาน ต้องเตรียมทบทวน แผน PDP 2018 ใหม่อีกครั้ง เพราะสถานการณ์นี้จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2563 จะหดตัวลง 5.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่
การจัดทำแผน PDP 2018 ได้พยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ตามประมาณการทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว ปี พ.ศ. 2560 – 2580 มีค่าเฉลี่ย 3.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ในเมื่อเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างมาก ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าย่อมต้องลดลงตามไปด้วย
เป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์
สำหรับแผน PDP 2018 ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ มีกำลังการผลิตตามเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่เชื่อถือได้ 4,250 เมกะวัตต์ จะมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ภาคประชาชน) นำร่อง ปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 10 ปี โดย กพช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ กพช. จะกำหนดเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์นั้น ตามร่างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) ฉบับรับฟังความเห็น วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดทำและวางเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้ที่ 12,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงขึ้นจากเดิมอย่างมาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า แผน AEDP 2018 มีการปรับเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นจากแผน AEDP 2015 พลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ณ ปี พ.ศ. 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์โดยสิ้นปี พ.ศ. 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ แต่ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 ให้ได้ 12,725 เมกะวัตต์ (โซลาร์รูฟท็อปกับโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำ) ทั้งนี้ ในแผน AEDP 2018 จะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผน AEDP 2015 คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี พ.ศ. 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในเวลานั้น ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ มากกว่า 50 ราย เรื่อง “นโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อให้ข้อมูลนโยบายและแผนงานของรัฐบาลแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปวางแผนการลงทุนในอนาคต เมื่อวันที่
13 มีนาคม พ.ศ. 2562 สรุปได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2561) ประกอบด้วย Solar farm, Solar PV rooftop และโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2015ทำให้ยังคงเหลืออีก 2,750 เมกะวัตต์ ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นเป็น 12,725 เมกะวัตต์ ในอีก 18 ปีข้างหน้า แบ่งแยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังดำเนินการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแล้วเสร็จ 1,087 แห่ง ติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,446 แห่ง ในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ยังส่งเสริมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนที่มีพื้นที่ห่างไกล จำนวน 439 แห่ง และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีพื้นที่ห่างไกล จำนวน 239 แห่ง
กระทรวงพลังงานมีโครงการหลัก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2 กิโลวัตต์ และโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งดำเนินการแล้วรวม 846 แห่ง ระบบละ
ไม่น้อยกว่า 2.5 กิโลวัตต์ ครอบคลุม 56 จังหวัด
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นตามแผน PDP 2015 กฟผ. จะเริ่มโครงการนำร่อง Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังการผลิต 45 MW โดยมีแผนเปิดดำเนินงาน (COD) ภายในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2563 ในพื้นที่โครงการวม760 ไร่ เป็นพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 45 ไร่ สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่รวมส่วนยึดโยงต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายด้านพลังงานแสงอาทิตย์จะมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเข้าระบบไฟฟ้ามากขึ้น แต่ดูเหมือนจะไม่มีแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมากนัก เพราะการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่รัฐบาลกำหนดนั้น ถือว่าต่ำกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทอื่น โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เริ่มโครงการทดลองโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับครัวเรือน ในระยะแรก ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2562ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลารับซื้อ 10 ปี โดยผู้เข้าร่วมต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทางเองด้วย
สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบุว่า ทางการไม่มีแผนการอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้า ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล ในรูปของส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ Adder หรือ Feed in Tariff – FiT เหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตได้ปรับลดลงมามากแล้ว โดยการยกเลิกอุดหนุนราคา ค่าไฟฟ้าในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล ในรูปของส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ Adder หรือ Feed in Tariff – FiT ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนและการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ลดการส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ แต่เดิมรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยการอุดหนุนราคา ซึ่งในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลให้การอุดหนุนโดยรับซื้อในระบบ Adder ราคา 8 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 รับซื้อในระบบ Adder ราคา 6.50 บาทต่อหน่วย ต่อมา ปี พ.ศ. 2556 – 2557 เปลี่ยนการอุดหนุนราคาจากระบบ Adder มาเป็นระบบ FiT ในส่วนโซลาร์รูฟท็อป ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี บ้านที่อยู่อาศัย ต่ำกว่า 10 kWp ราคา 6.96 บาทต่อหน่วย ส่วนธุรกิจหรือโรงงาน ขนาดมากกว่า 10 – 250 kWp ราคา 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจหรือโรงงานขนาดมากกว่า 250 – 1,000 kWp ราคา 6.16 บาทต่อหน่วย
ผลสะท้อนจากการยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้มีผู้สนใจลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์น้อยลง ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานสำคัญ 4 แผนที่ได้ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580 (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติพ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสาระสำคัญที่ปรับเปลี่ยนใหม่นั้น มีการปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยมีเป้าหมายรวมคงเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่ลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้าโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ในปี พ.ศ. 2563 ต่อไป แต่จะมีการปรับลดสัดส่วนปริมาณการรับซื้อลง โดยยังคงเปิดให้ภาคครัวเรือนที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองเป็นหลัก และส่วนที่เหลือสามารถขายเข้าระบบในอัตรารับซื้อที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ตามราคาที่เคยมีการเปิดโครงการนำร่องไปแล้วในปี พ.ศ. 2562
บทสรุป
ภาครัฐมีนโยบายและแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น แต่การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงประเภทอื่น และมีการยกเลิกอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ในรูปของส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ Adder หรือ Feed in Tariff – FIT จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุนและการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของภาคเอกชน และผลสะท้อนจากการยกเลิกอุดหนุนราคาไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้น ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นเหตุให้ภาครัฐได้ร่างแผนด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ โดยปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิง และลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ส่งผลให้โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ในปี พ.ศ.2563 จะมีการปรับลดสัดส่วนปริมาณรับซื้อลงตามไปด้วย
อ้างอิง
วิลาวัลย์ พงษ์พิทักษ์. (2563). กบง.ไฟเขียว 4 แผนพลังงาน แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนดันค่าไฟเพิ่ม PDP เดิม พร้อมปรับส่วนต่างกลุ่มดีเซลจูงใจใช้ B10. จาก https://www.ryt9.com/s/iq03/3097764
กระทรวงพลังงาน. (2561). แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018). จาก http://www.eppo.go.th/images/POLICY/PDF/PDP2018.pdf
กระทรวงพลังงาน. (2562). ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) ฉบับรับฟังความคิดเห็น. จาก https://drive.google.com/file/d/1Of62vC2dj9aty-hwEc4K9z_CL2yz3fRW/view
กระทรวงพลังงาน. (2562). กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ ส่งเสริมนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์. จาก https://energy.go.th/2015
ศูนย์ข่าวพลังงาน. (2562). ชี้แผนพลังงานทดแทนใหม่ (AEDP2018) ไม่อุดหนุนค่าไฟ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล. จาก https://www.energynewscenter.com%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99/
พลังงานทางเลือกดาวรุ่ง. (ม.ป.ป.). โซลาร์ รูฟท็อป. จาก http://webkc.dede.go.th/testmax/node/185
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). ข่าวธปท. ฉบับที่ 21/2563 รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2563. จาก https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n2163.aspx
Green Network. (2562). พพ. จับมือ สนพ. แจงเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ตามแผน PDP 2018. จาก https://www.greennetworkthailand.com/%e0%b8%9e%e0%b8%9e-%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%9e-aedp-2018/