SDG ทางรอดของระบบพลังงานโลก
Sustainable Development Goals (SDG) คือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย SDG มีเป้าหมายครอบคลุมในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน
ดร.นิธิดา นาคะปรีชา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เรื่องพลังงานถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งใน SDG ก็เนื่องมาจากปัญหาความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบันที่ความต้องการใช้พลังงานไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด ในขณะที่แหล่งพลังงานหลักนั้นมีอยู่จำกัด ที่สำคัญแหล่งพลังงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นพลังงานที่มาจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ซึ่งหากใช้กันอย่างต่อเนื่องด้วยพฤติกรรมการใช้พลังงานแบบเดิม ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งเราก็เห็นกันแล้วในปัจจุบัน
SDG จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในเรื่องพลังงานมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ตั้งแต่เรื่องการผลิตให้เพียงพอ หรือกระทั่งในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถมีแหล่งพลังงานสะอาดใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานไฟฟ้าหลักจากรัฐ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีตัวชี้วัดที่คล้าย ๆ กัน เช่น อัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรมีจำนวนเท่าไรและสัดส่วนของประชากรที่เข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นเท่าไร พลังงานหมุนเวียนในระบบมีมากน้อยขนาดไหน ไปจนถึงเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน เช่น ปริมาณต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าหนึ่งหน่วย หากใช้น้อยก็จะถือว่ามีประสิทธิภาพ
ดร.นิธิดายกตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด คือ นอร์เวย์ที่สามารถทำให้การเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่ทำได้ทั้งระบบ และประชาชนในประเทศเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยนอร์เวย์สามารถสร้างระบบให้เกิดความต่อเนื่องของการผลิตไฟฟ้าได้ เช่น โดยปกติหากใช้เพียงแต่โซลาร์เซลล์อย่างเดียว หากไม่มีแสงอาทิตย์ก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ นอร์เวย์แก้ปัญหาด้วยการสร้างแหล่งกักเก็บพลังงานในชั้นใต้ดิน และเพิ่มจำนวนโซลาร์ฟาร์มในน้ำ ไปจนถึงการสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมาใช้หมุนเวียน
แล้วไทยสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับนอร์เวย์ได้หรือไม่ ดร. นิธิดา อธิบายว่า หากไทยต้องการให้เป็นแบบนอร์เวย์นั้น อาจจะต้องทำให้ SDG ด้านพลังงานเป็นวาระระดับประเทศ ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ในอนาคต เนื่องจากเรื่องพลังงานนั้นอยู่ในทุกส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบรับความต้องการของคนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ วิธีคิดของคนในประเทศต่อเรื่องพลังงานสะอาด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้พลังงานทางเลือก หลายคนยังลังเลที่จะติดแผงโซลาร์เซลล์ในบ้านลังเลที่จะเปลี่ยนชนิดของน้ำมันที่เติมในรถ เนื่องจากมีราคาที่สูงกว่าพลังงานจากฟอสซิลอยู่มาก สิ่งที่ภาครัฐควรทำอาจจะเริ่มด้วยการสนับสนุนให้การเข้าถึงพลังงานสะอาดมีราคาที่ถูกลง ง่ายต่อการเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมแต่ในระยะยาวนั้นก็ต้องระวัง เพราะหากให้รัฐสนับสนุนไปตลอดนั้นอาจะไม่ยืนยาว สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้บริโภคเองต้องเปิดใจที่จะลองเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดของตัวเองควบคู่ไปด้วย ในขณะที่รัฐก็ต้องมีนโยบายออกมาสนับสนุนเช่นกัน
“สิ่งที่เราจะมีส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของพลังงาน คือ เราต้องเปิดใจให้กับพลังงานสะอาด เพราะถ้าภาครัฐมีนโยบายแต่เราไม่เห็นด้วย มันก็เท่านั้น เช่น เราอยากติดโซลาร์เซลล์หรือไม่ เปลี่ยนไปเติมแก๊สโซฮอล์ไหม ก็ยาก เพราะต้นทุนมันสูงกว่ามาก ภาครัฐจะหนุนก็ได้ แต่มันไม่ยั่งยืน วันหนึ่งรัฐก็ต้องหยุด”