สรุปประเด็นหลัก
- เวียดนามได้พยายามพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง
- ลาว กัมพูชา และเมียนมา ยังให้ความสนใจพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างน้อย แต่ก็มีแนวโน้มว่า จะหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
บทนำ
ในบรรดาประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมด เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันอย่าง ลาว กัมพูชา และเมียนมานั้น แม้ว่าจะมีศักยภาพไม่น้อย รวมถึงมีความพยายามในการผลักดันจากองค์การระหว่างประเทศและนักลงทุนเอกชนแต่กลับไม่ได้พัฒนาพลังงานชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์มากนัก
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อแสดงให้เห็นถึงนโยบายของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์: สถานการณ์ในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา
เวียดนามเป็นประเทศที่มีระดับความเข้มข้นของรังสีแสงอาทิตย์อยู่ในระดับกลาง กล่าวคือ Global Horizontal Irradiation (GHI) อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี เวียดนามมีพื้นที่ซึ่งเหมาะแก่การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศ รายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนประเมิน (Estimated cost) ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ระหว่าง 0.17 – 0.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ภาษีกระแสไฟฟ้าของเวียดนามอยู่ระหว่าง 0.03 – 0.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง รายงานดังกล่าวระบุว่า ด้วยต้นทุนขนาดนี้ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามยังไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าเท่าใดนัก
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐบาลเวียดนามได้พยายามพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง ตามแผนพลังงานล่าสุด เวียดนามตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 4 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2568 และทำให้ได้ถึง 12 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยภาครัฐพยายามสร้างระบบให้จูงใจภาคเอกชนอย่างมาก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้าไปในภาคส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 รัฐบาลเวียดนามได้ออกมาตรการจูงใจในการลงทุนภายใต้ระบบ Feed-in Tariff สำหรับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบบนหลังคา (Solar rooftop) และระบบทุ่นลอยน้ำ (Floating solar) โดยกำหนดราคารับซื้อระบบแผงโซลาร์เซลล์ตั้งพื้น เอาไว้ที่ 1,644 ดง หรือ 0.0709 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในระยะเวลา 20 ปี และ 0.0838 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับระบบติดตั้งแบบบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ส่วนระบบทุ่นลอยน้ำกำหนดราคารับซื้อเอาไว้ที่ 0.0769 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งการประกาศ Feed-in Tariff ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนเห็นว่า เป็นความคงเส้นคงวาทางด้านนโยบายพลังงานของเวียดนามที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนในภาคส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยนโยบายและแรงจูงใจทางด้านการลงทุนที่ชัดเจนในระยะหลัง ทำให้เวียดนามกลายเป็นตลาดที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีโครงการที่เปิดตัวและดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันหลายโครงการ เช่น โครงการดัวเตี๊ยน 1 และ 2 (Dau Tien 1, 2) ในจังหวัดเตยนิญ ซึ่งโครงการแรกที่เปิดทดลองไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ดำเนินการโดยบริษัท บีกริม เพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองโครงการมีขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 420 เมกะวัตต์ จัดได้ว่าเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่า โครงการนี้จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เวียดนามได้นับแสนครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนจากประเทศไทยรายอื่น เช่น กัลฟ์ เอ็นเนอยี ประกาศว่าจะก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 48 เมกะวัตต์ บริษัทจากประเทศอาเซียนอื่น ๆ เช่น ซันเซป (Sunseap) และ อินฟาโค เอเชีย ของสิงคโปร์ได้ประกาศร่วมทุนกันเพื่อพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 168 เมกะวัตต์ที่จังหวัดนิญถ่วน ของเวียดนามด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันเวียดนามอนุมัติและดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ โครงการขนาดเล็กที่สุดมีกำลังการผลิตเพียง 10 เมกะวัตต์ ไปจนถึงหลายร้อยเมกะวัตต์อย่างเช่นของบริษัทเอกชนจากประเทศไทย
กัมพูชาเป็นประเทศที่ได้รับความเข้มข้นของรังสีแสงอาทิตย์มากกว่าเวียดนามแต่กลับลงทุนด้านนี้น้อยกว่า และแนวนโยบายก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก กัมพูชาได้รับความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์ (Global Horizontal Irradiation – GHI) อยู่ที่ประมาณ 1,450 – 1,950 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี พื้นที่ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของประเทศได้รับรังสีที่ประมาณ 1,800 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตางรางเมตรต่อปี พื้นที่ประมาณ 134,500 ตารางกิโลเมตร มีความเหมาะสมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ตามรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียระบุว่า ต้นทุนประเมินของการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 0.166 – 0.175 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง รายงานดังกล่าวระบุว่า ราคากระแสไฟฟ้าในกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพิงฟอสซิลจัดได้ว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 0.18 – 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program – UNDP) เสนอว่า กัมพูชาควรพิจารณาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นทางเลือกในการผลักดันให้ราคากระแสไฟฟ้าในกัมพูชาลดลง เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ กล่าวคือ ลดลงประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะลดลงได้อีกถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2573
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลกัมพูชาภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ประกาศเปิดตัวโครงการ National Solar Park ขนาด 100 เมกะวัตต์ โดยธนาคารให้การสนับสนุนเงินกู้ 7.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว นอกจากเอดีบีแล้วก็ยังมีกองทุน Strategic Climate Fund, Korea’s e-Asia and Knowledge Partnership Fund ให้ความช่วยเหลือแก่โครงการนี้รวม 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้จะสร้างบนพื้นที่ขนาด 200 เฮกตาร์ ผลิตกระแสไฟฟ้าเชื่อมเข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้ากัมพูชา ใกล้ ๆ กรุงพนมเปญ จังหวัดกำปงสะปือ และกำปงซะนัง ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติการก่อสร้างเฟสแรกของโครงการนี้ขนาด 60 เมกะวัตต์ที่กำปงสะปือ
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วอีกเช่นกัน คณะรัฐมนตรีกัมพูชาอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ มีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 140 เมกะวัตต์ ให้กับบริษัทเอกชนในกัมพูชา จากจีนและสิงคโปร์ โดยจะมีการสร้างโซลาร์ปาร์ก ที่บาเวต ติดชายแดนเวียดนาม มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 20 เมกะวัตต์ ที่พระตะบอง 60 เมกะวัตต์ และอีก 30 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดโพธิสัตว์และบันเตียเมียนเจย ตามลำดับ
ทั้งหมดนั้นเป็นโครงการในอนาคต ปัจจุบันมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทซันเซปจากสิงคโปร์เพียงแห่งเดียวขนาด 10 เมกะวัตต์ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดบาเวต
ลาว ประกาศนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อการส่งออกมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงมากกว่าพื้นราบ อีกทั้งยังได้รับรังสีแสงอาทิตย์ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ระดับความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์วัดตาม GHIในลาวเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1,200 – 1,800 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี มีพื้นที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้นที่เหมาะสำหรับการตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียฉบับเดียวกันระบุว่า ต้นทุนประเมินในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของลาวอยู่ระหว่าง 0.18 – 0.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ภาษีไฟฟ้าครัวเรือน อยู่ระหว่าง 0.034 – 0.098 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ภาษีไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์อยู่ระหว่าง 0.4 – 1.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนดังกล่าวไม่คุ้มค่าเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่บ้างในประเทศลาว แต่เป็นโครงการขนาดเล็กมาก เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าให้กับโรงเรียนและสถานีอนามัยในชนบท บริษัท Yingli Green Energy Holding ของสิงคโปร์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 2 กิโลวัตต์ให้กับโรงเรียนที่พงสะหว่างและอีก 2 เมกะวัตต์ให้สถานีอนามัย ในแขวงคำม่วน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน บริษัท Sunlabob ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 40 กิโลวัตต์ บนหลังคาอาคารสำนักงานธนาคารโลกในนครหลวงเวียงจันทน์ โครงการที่จัดว่าเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์จริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยบริษัท Sunlabob อีกเช่นกัน โดยติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับอาคารสำนักงานธนาคาร ANZ ในเวียงจันทน์ เพื่อช่วยให้ธนาคารประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าปีละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีรายงานเกี่ยวกับการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในลาวอีก
เมียนมา มีศักยภาพที่ดีเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศเหมาะสมในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ระดับความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์ GHI อยู่ระหว่าง 1,600 – 2,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี รายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียระบุว่าการประเมินต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของเมียนมาน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 0.16 – 0.19 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ภาษีกระแสไฟฟ้าสำหรับการต่อเชื่อมระบบสายส่ง (Grid) อยู่ที่ 0.035 – 0.075 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และสำหรับโครงการที่อยู่นอกระบบสายส่งจะอยู่ที่ 0.10 – 0.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หมายความว่า การผลิตในระบบปิดที่ไม่ต้องเชื่อมกับระบบสายส่งน่าจะมีความคุ้มค่าต่อต้นทุนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเมียนมาจัดได้ว่าอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่ำมาก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีรายงานจากสื่อมวลชนว่า บริษัทเจตชั่นจากจีน ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดประมาณ 50 เมกะวัตต์ ที่มิงบู ภาคแมกเกวย ล่าสุดกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาได้ออกประกาศเชิญชวนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 นี่เอง โดยตั้งเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้เอาไว้ที่ 1 กิกะวัตต์ตามเอกสารเชิญชวนที่เผยแพร่ทาง Facebook ของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ระบุว่า วิสาหกิจการผลิตไฟฟ้าของเมียนมามีความประสงค์จะเชิญชวนนักลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบวางบนพื้น โดยผู้ผลิตอิสระหรือ ไอพีพี (Independent Power Producer – IPP) ในสัญญาแบบสร้างเป็นเจ้าของและดำเนินการเองหรือ บีโอโอ (Build-Operate and Own – BOO) ภายในระยะเวลา 20 ปี คาดว่าอาจจะมีนักลงทุนสนใจเสนอโครงการขนาด 30 – 40 เมกะวัตต์
รูปที่ 1: แผนที่แสดงระดับความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์ในลุ่มแม่น้ำโขง
ที่มา: ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
ประเทศ | ความเข้มของรังสีแสงอาทิตย์ (kwh/m2/yr) | ศักยภาพ (MWp) | กำลังการผลิตติดตั้งในปัจจุบัน* |
กัมพูชา | 1,450-1,950 | 8,074 | 10 MW |
ลาว | 1,200-1,800 | 8,812 | 40 KWp |
เมียนมา | 1,600-2,000 | 26,962 | 50 MW |
เวียดนาม | 1,200-2,000 | 13,326 | 5.69 GW |
* หมายเหตุ: MWp = megawatt-peak, MW = megawatt, kwh= kilowatt-hour, KWp = kilowatt-peak, GW = gigawatt
ตารางที่ 1: ศักยภาพทางเทคนิคของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศลุ่มน้ำโขง
ที่มา: ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และ * PV-magazine
ประเทศ | ต้นทุนประเมิน (ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) |
ภาษีกระแสไฟฟ้า (ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) |
ภาษีนำเข้ากระแสไฟฟ้า (ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) |
กัมพูชา | 0.166 – 0.175 | N/A | N/A |
ลาว | 0.18 – 0.20 | 0.034 – 0.098 (ที่พักอาศัย)
0.4 – 0.106 (เพื่อการพาณิชย์) |
0.0617 |
เมียนมา | 0.16 – 0.19 | 0.035 – 0.075 (ในระบบสายส่ง)
0.10 – 0.30 (นอกระบบสายส่ง) |
N/A |
เวียดนาม | 0.17 – 0.22 | 0.03 – 0.16 | 0.05 |
ตารางที่ 2: เปรียบเทียบการประเมินต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และภาษีไฟฟ้า
ที่มา: ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
ประเภท | Feed-in Tariff | |
ราคาเงินดง/kwh | เทียบเท่าเซ็นต์ของดอลลาร์สหรัฐ/kwh | |
แผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ | 1,783 | 7.69 |
แผงโซลาร์เซลล์ตั้งพื้น | 1,644 | 7.09 |
โซลาร์รูฟท็อป | 1,943 | 8.38 |
ตารางที่ 3: อัตรารับซื้อในระบบ Feed-in Tariff ของเวียดนาม
ที่มา: Vietnam’s Decision 13/2020/QD-TTg dated 6 April 2020
บทสรุป
ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ถ้าหากไม่นับไทยก็มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่ดำเนินการจริงจังในการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ ประเทศอื่นดูเหมือนจะให้ความสนใจพลังงานชนิดนี้ค่อนข้างน้อย แต่ให้น้ำหนักกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่น เช่น กรณีของลาวให้ความสำคัญกับการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำมากกว่า แม้ว่าจะมีข้อเสนอให้ใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนเพื่อสร้างทุ่นแผงโซลาร์เซลล์ควบคู่กันไปด้วย แต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลลาวหรือบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำมากนัก แต่กัมพูชาเริ่มมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการผลิตพลังงานทางเลือกแบบนี้ เพราะรัฐบาลพนมเปญเริ่มมองหาแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกลง ในขณะที่เมียนมาก็เริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง
Asian Development Bank. (2015). Renewable Energy Developments and Potential in The Greater Mekong Sub-region. From https://www.adb.org/sites/default/files/publication/161898/renewable-energy-developments-gms.pdf
Asian Development Bank. (2017). Renewable Energy in The Greater Mekong Sub-region: Status Report. From https://www.greatermekong.org/renewable-energy-greater-mekong-subregion-status-report
Emiliano Bellini. (2018). Cambodia needs solar to drive down electricity prices. From https://www.pv-magazine.com/2018/10/23/cambodia-needs-solar-to-drive-down-electricity-prices/
Emiliano Bellini. (2020). Myanmar launches 1GW solar tender. From https://www.pv-magazine.com/2020/05/19/myanmar-launches-1-gw-solar-tender/
Emiliano Bellini. (2019). Cambodia approves for PV projects totaling 140 MW. From https://www.pv-magazine.com/2019/07/15/cambodia-approves-four-pv-projects-totaling-140-mw/
Marian Willuhn. (2019). ADB provides backing for 100 MW solar project in Cambodia. From https://www.pv-magazine.com/2019/05/30/adb-provides-backing-for-100-mw-solar-project-in-cambodia/
Vietnam’s Prime Minister Office. (2020). Decision on mechanism to promote solar power project in Vietnam. From http://vepg.vn/wp-content/uploads/2020/04/Decision_13_2020_on_Solar-FiT-2_EN.pdf
Yingli Solar. (2015). Yingli Solar and partners power school and clinic in rural Laos. From https://www.pv-magazine.com/press-releases/yingli-solar-and-partners-power-school-and-clinic-in-rural-laos_100020122/
In7day. (2563). เวียดนามเปิดโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ใหญ่อันดับหนึ่งในอาเซียน. จาก https://in7day.com/archives/7617?fbclid=IwAR0GN4d6TRV8KHIyxWXpx1Yqc4wWnUitTFWvKB-BONYKrl7MUfuP3zwVyaw