ส่องความคิดเบื้องหลัง Solar parking ที่ตลาดสามย่าน

11.

ส่องความคิดเบื้องหลัง Solar parking ที่ตลาดสามย่าน

          หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปยังตลาดสามย่าน เชื่อเลยว่าร้อยทั้งร้อยต้องสังเกตเห็นเจ้าแผงสีดำที่ใช้เป็นหลังคาลานจอดรถ ซึ่งที่มาของมันก็คือแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ Solar parking ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          ดร.สมบัติ วนิชประภา ที่ปรึกษาโครงการ Smart city สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงที่มาที่ไปของโครงการ Solar parking ว่า เริ่มมาจากที่เดิมทีจุฬาฯ มีโครงการลดค่าไฟจากพลังงานสะอาดอยู่แล้ว โดยเฉพาะการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งมีทั้งแบบ Rooftop ติดตั้งบนหลังคาในจุดที่แสงแดดส่องดีที่สุด และการติดตั้งในรูปแบบของ Solar parking ที่ตลาดสามย่าน ซึ่งเราจะได้ประโยชน์ทั้งสองทางคือได้พลังงานแสงอาทิตย์และได้หลังคาบังแดดให้กับที่จอดรถ

 

          ดร.สมบัติอธิบายต่อว่า สำหรับ Solar parking รูปแบบที่ใช้อยู่ในลักษณะของ Private PPA คือให้บริษัทเอกชนเข้ามาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในพื้นที่ของจุฬาฯ ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยและพื้นที่อื่น ๆ ของสำนักงานทรัพย์สิน โดยจุฬาฯ จะจ่ายค่าไฟให้กับบริษัทเจ้าของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้ทำการติดตั้งเองนั้น เนื่องจากมองว่าคุ้มค่ากว่ามากในแง่ของการลงทุนและการดูแลรักษา บริษัทที่ติดตั้งจะดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบรวมถึงการทำความสะอาดประจำเดือน และเมื่อครบกำหนดก็จะได้แผงที่ติดตั้งทั้งหมดคืน ซึ่งหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่มักจะใช้วิธีการ Private PPA ในลักษณะเดียวกัน

 

          สำหรับ Solar parking นั้นติดตั้งโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าต่อตารางเมตรมากที่สุด เฉพาะในส่วนของลานจอดรถนั้นติดตั้งจำนวน 700 วัตต์ ต้นทุนอยู่ที่ 25 – 30 บาทต่อวัตต์ มีระยะเวลาในการคืนทุน 7 ปี แต่หากเป็นการติดตั้งในทุกพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งเป้าระยะเวลาคืนทุนไว้ที่ 20 ปี ซึ่งจะลดรายจ่ายด้านค่าไฟได้ราว 25 – 30 เปอร์เซ็นต์

 

          ที่ปรึกษาโครงการ Smart city เล่าต่อว่า อุปสรรคสำคัญของไทยที่ทำให้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องยากคือ ระบบการคิดค่าไฟของภาครัฐ เช่น บ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์และเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวัน การใช้ไฟจะรันจากระบบโซลาร์ แต่เมื่อเราออกจากบ้าน ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าแต่ระบบยังทำงานอยู่จำนวนไฟก็จะไหลย้อนกลับไปที่สายส่งของรัฐ ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ หรือหักลบเป็นส่วนต่างที่เราผลิตไฟได้ ในขณะที่ต่างประเทศทุกครัวเรือนที่ติดโซลาร์เซลล์และไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบของรัฐ เราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

          ดร.สมบัติิกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เรื่องโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ราคาเริ่มติดตั้งของบ้านทั่วไปเป็นเท่าไร ระบบไฟทำงานอย่างไร ลดค่าไฟได้กี่บาท ไม่เหมือนกับการซื้อโทรทัศน์หนึ่งเครื่องที่เราจะประมาณการได้ว่าหนึ่งเครื่องราคามาตรฐานคือเท่าไร และทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตนมองว่าควรทำให้โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายเช่นเดียวกับการซื้อของอื่น ๆ

preload imagepreload image