สรุปประเด็นหลัก
- โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยได้รับความสนใจจากภาคเอกชน เนื่องมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
- ปัญหาระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ไม่รองรับการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และจุดรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถรองรับ เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของโซลาร์ฟาร์ม
บทนำ
ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สะสม 3,200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์ม 3,024 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป 188 เมกะวัตต์ ซึ่งการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รายปีในระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2561 สะท้อนให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไปตามมาตรการของรัฐ โดยมีไฟฟ้าเข้าสู่ระบบมากถึง 2,962 เมกะวัตต์
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อแสดงให้เห็นถึงมาตรการของภาครัฐต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย
การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์รายเล็ก (SPP) ในประเทศไทย
สัดส่วนปริมาณการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์รายเล็ก (SPP) ระบบขนาดมากกว่า 10เมกะวัตต์แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ (588.47 เมกะวัตต์) จำนวน 7 แห่ง และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์รายเล็กมาก (VSPP) ระบบขนาดตั้งแต่ 1 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ คิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์ (2,074.65 เมกะวัตต์) จำนวน 522 แห่ง
ทั้งนี้ การกระจายของการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ SPP และ VSPP ในส่วนภูมิภาคพบว่าภาคกลางมีปริมาณการติดตั้งสูงสุด 1,302 เมกะวัตต์ (214 แห่ง) รองลงมาเป็นภาคตะวันออก 452 เมกะวัตต์(90 แห่ง) และภาคตะวันตก 440 เมกะวัตต์ (93 แห่ง) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 404 เมกะวัตต์ (105 แห่ง) และภาคเหนือ 178 เมกะวัตต์ (21 แห่ง) ภาคใต้มีปริมาณน้อยมากเพียง 0.026 เมกะวัตต์ (6 แห่ง) ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากการสนับสนุนทางด้านนโยบายอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลในระยะที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่านโยบายดังกล่าวไม่มีความคงเส้นคงวามากนักจนส่งผลต่ออนาคตของพลังงานทางเลือกชนิดนี้
ย้อนโซลาร์ฟาร์มแห่งแรก
โครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโคราชเฟส 1 ซึ่งเป็นโครงการแรกที่เอกชนร่วมกับรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีกำลังผลิตขนาด 6 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ความร่วมมือการลงทุน โครงการโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) ระหว่างบริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช1) จำกัด และ International Finance Corporation (IFC) ของธนาคารโลก ซึ่งการลงนามในวันนี้เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงาน
โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม โครงการแรกในประเทศไทย ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง IFC และมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้โครงการกองทุนร่วมทุนพลังงาน หรือ ESCO Fund พร้อมกันนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกสิกรไทย โดยมีการจ่ายไฟเข้าระบบเมื่อปี พ.ศ. 2553 และหลังจากนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ขนาดกำลังผลิตมากกว่า 10 – 90 เมกะวัตต์ ที่เป็นภาคเอกชนก็ทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ผลิตรายแรกที่ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 คือ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีกำลังติดตั้งสูงสุด 72.59 เมกะวัตต์ และในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2559 มีบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสะสม รวม 588.47 เมกะวัตต์
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เหตุผลหนึ่งคือ ราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลดลงมากจากราคาประมาณ 150 บาทต่อวัตต์ ลดลงเป็น 20 – 25 บาทต่อวัตต์ และการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของการรับซื้อและมาตรการด้านภาษี เป็นต้น
มาตรการหลักในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยคือ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในราคาที่สูงกว่าราคาค่าไฟฟ้าฐาน โดยสามารถแบ่งประเภทของมาตรการรับซื้อจากในอดีตจนถึงปัจจุบันออกได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วงมาตรการรับซื้อแบบส่วนเพิ่ม (Adder) และมาตรการรับซื้อแบบราคาคงที่ (Feed-in-tariff, FiT) และสามารถแบ่งประเภทของระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมออกได้เป็น 2 ประเภท คือโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟท็อป
มาตรการส่งเสริมในช่วงแรก คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเอกชนที่ราคาไฟฟ้าฐานรวมกับอัตรารับซื้อส่วนเพิ่ม (Adder) โดยอัตรารับซื้อส่วนเพิ่มอยู่ที่ 8 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อ แบบ Adder พ.ศ. 2551 -2556 ราคาเท่ากับ 8.00 – 6.50 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นการปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อให้เหมาะสมกับราคาแพงไฟแผงเซลล์ไฟฟ้าที่ลดลง
การกำหนดราคารับซื้อในอัตราที่สูงนี้เป็นไปเพื่อสะท้อนต้นทุนของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในช่วงนั้น ซึ่งทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเติบโตอย่างรวดเร็วและมีกำลังการผลิตที่อยู่ภายใต้มาตรการ Adder สูงถึง 1,570 เมกะวัตต์ ณ ปี พ.ศ. 2560
นโยบายการส่งเสริมในช่วงต่อมา มีการปรับรูปแบบการรับซื้อจากการให้อัตรารับซื้อส่วนเพิ่ม (Adder)มาเป็นราคารับซื้อที่อัตราคงที่ หรือ Feed-in-tariff (FiT) ในปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลได้ปรับนโยบายการส่งเสริมไปเน้นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นเพื่อลดข้อกังวลเรื่องการใช้ที่ดิน และเพิ่มการกระจายรายได้ไปยังภาคครัวเรือน จึงมีมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปโดยใช้ระบบ Feed-in-tariff (FiT) ซึ่งมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยอยู่ระหว่าง 6.16 – 6.95 บาท คงที่ตลอดระยะเวลาสัญญา (25 ปี) และมีเป้าหมายการรับซื้อทั้งสิ้น 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารหรือโรงงาน 100 เมกะวัตต์ ปรากฏว่าเป้าหมายการรับซื้อจากกลุ่มอาคารหรือโรงงานเต็มอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กลุ่มบ้านอยู่อาศัยมีผู้สมัครเพียง 30 เมกะวัตต์ เท่านั้น โดยลดอัตราการรับซื้อลงเหลือ 6.85 บาทต่อหน่วย
ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรดังกล่าว ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวมทั้งสิ้น 800 เมกะวัตต์ โดยจัดแบ่งสำหรับกลุ่มสหกรณ์การเกษตร 400 เมกะวัตต์ และสำหรับหน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะเวลา 25 ปี โครงการได้จัดแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยที่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ส่วนระยะที่ 2 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561
มาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นอกจากมาตรการรับซื้อไฟฟ้าแล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตามประกาศที่ 1/2557 โดยเน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริม ได้แก่
– ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต
– ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
– ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
โอกาสของโซลาร์ฟาร์มที่ต้องรอ
หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ได้ประกาศหยุดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเมื่อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) เฟสที่ 2 กำลังการผลิต 219 เมกะวัตต์ ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นดินเพิ่มเติมอีก เนื่องจากต้องพิจารณาความพร้อมของระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และระบบป้อนไฟฟ้า (ฟีดเดอร์) อีกครั้ง รวมถึงการเร่งเคลียร์โครงการเก่าให้เรียบร้อย โดยคาดว่าจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2563 และยังไม่มีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม
ทั้งนี้ ภายหลังคณะกรรมการกิจการพลังงานได้ประกาศยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แต่ในแผน PDP 2018 ก็ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 6,000 เมกะวัตต์ จึงทำให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ยังเห็นโอกาสในการเข้าร่วมผลิตไฟฟ้าให้กับภาครัฐ
โดยก่อนที่ กพช. จะกำหนดเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์นั้น ตามร่างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) ฉบับรับฟังความเห็น 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดทำและวางเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ เอาไว้ที่ 12,725 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงขึ้นจากเดิมอย่างมาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า (ร่าง) แผน AEDP 2018 มีการปรับเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นจากแผน AEDP 2015 พลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนเดิม ณ ปี พ.ศ. 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์โดยสิ้นปี พ.ศ. 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ แต่ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2580 ให้ได้ 12,725 เมกะวัตต์ (โซลาร์รูฟท็อปกับโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำ) ทั้งนี้ ใน (ร่าง) แผน AEDP 2018 จะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผน AEDP 2015 คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี พ.ศ. 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์
ยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเมื่อวันที่3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในระหว่างการแถลงข่าวการรับฟังแผน PDP 2018 ว่า “ตามแผนมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็น 15,574 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการที่จะต้องทำเพิ่มเติมในอนาคตอีก 12,725 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโซลาร์ประชาชน 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ ปีละ 100 เมกะวัตต์ และการรับซื้อโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. อีกจำนวน 2,725 เมกะวัตต์”
ส่วนการรับซื้อไฟที่เหลืออีก 9,000 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะออกประกาศการรับซื้อแบบใด ซึ่งจะต้องรอนโยบายจากรัฐบาลอีกครั้ง
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มอุตสาหกรรมได้ความเห็นว่า มีโอกาสที่จะเป็นรูปแบบของโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 90 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวมถึงจะต้องพ่วงการใช้แบตเตอรี่ด้วย และจะมีนโยบายราคารับซื้อแบบ FIT ไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย
Solar rooftop พลาดเป้า
จากการปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Rev.1 นั้น ได้มีการปรับลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในช่วงปลายแผนปี พ.ศ. 2580ลงเหลือ 9,290 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้เป็นส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนที่ 8,740 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 5 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 – 2567) จะรับซื้อเข้าระบบรวม 750 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นปี พ.ศ. 2563 ที่ 50 เมกะวัตต์, ปี พ.ศ. 2564 ที่ 100 เมกะวัตต์, ปี พ.ศ. 2565 ที่ 150 เมกะวัตต์, ปี พ.ศ. 2566 ที่ 200 เมกะวัตต์ และปี พ.ศ. 2567 ที่ 250 เมกะวัตต์
จากที่ก่อนหน้านี้ ตามแผน PDP 2018 กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์โดยภายในระยะเวลา 10 ปี ตั้งเป้ารับซื้อ 1,000 MW ปีละ 100 เมกะวัตต์ โดยภายใต้แผน PDP 2018 นั้นหากคำนวณเป็นหลังคาเรือนที่อยู่อาศัยจะมีสูงถึง 2 ล้านหลังคาเรือน
แต่หลังจากปี พ.ศ. 2562 ประกาศให้มีการยื่นความจำนงกลับมา มียื่นเสนอเพียง 3 เมกะวัตต์ และปี พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพียง 47 เมกะวัตต์เท่านั้น จากแผนเดิมที่ตั้งเป้าปีละ 100 เมกะวัตต์ ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรกับอีกกว่า 9,000 เมกะวัตต์ที่เหลือ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอรัฐบาลตัดสินใจเรื่องการรับซื้อพลังงานจากแสงอาทิตย์ว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่ในแผน PDP 2018 ก็มีโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่แบบลอยน้ำถึง 2,725 เมกะวัตต์ขณะเดียวกัน ยังมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีก
โครงการ Floating Solar คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ และถูกบรรจุในแผน AEDP 2018 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) กล่าวคือ
– โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะที่ 1 ที่ กฟผ. กับเครือเอสซีจีจะนำร่องโครงการขนาดกำลังผลิตราว 250 – 500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี เพื่อผลิตและใช้ไฟฟ้าภายในเขื่อนเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องรอ กพช. พิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก
– โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะที่ 2 ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์
– โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ ที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการนั้น เบื้องต้น กฟผ. มีแนวทางที่จะดำเนินการในเขื่อนของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีอยู่11 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating solar hybrid) หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มีการลงนามไปเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ระหว่าง กฟผ. เป็นประธานการลงนามระหว่าง บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM บริษัท China Energy Engineering Group Shanxi Electric Power En-gineering Co., Ltd. และ กฟผ. เอง ในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
ด้านเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. กล่าวว่าทาง บี.กริม เป็นผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating solar hybrid) หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ตามแผนงานผู้ประกอบการมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน ให้ทันการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ หรือต้นปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการลงทุนเฟส 1 จากนั้นจะขยายการลงทุนเฟส 2 ซึ่งเป็นการวางระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรอง (Energy storage) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดด
ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลในปีหน้า ส่วนโครงการวางระบบโซลาร์ลอยน้ำต่อไปจะขยายไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน คาดว่าจะมีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) หลังในปี พ.ศ. 2564 หลังจากเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสิรินธรแล้วเสร็จก็จะมีการประมวลปัญหาและอุปสรรคในการทำงานก่อนที่จะจัดทำทีโออาร์ และคาดว่าเปิดประมูลให้เอกชนมาดำเนินการก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2564 – 2565 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี พ.ศ. 2566
โครงการโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ EEC
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอการตัดสินใจของรัฐบาล โครงการโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้เห็นชอบหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับไปดำเนินงาน ในการจัดหาไฟฟ้าส่วนนี้ให้กับ อีอีซี
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมคาร์บอนตํ่า (Low Carbon Society) จัดหาไฟฟ้าพลังงานสะอาด ถือเป็นโครงการสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก กฟภ. ที่จะศึกษา พัฒนา และจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะมีบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) บริษัทลูกของ กฟภ. จะเป็นผู้ลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านเงินลงทุนและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับโครงการดังกล่าว จะเป็นการพัฒนาและลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทยแบบผสมผสาน ร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในระยะแรก การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุนโครงการประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีอีซี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีปริมาณรวมทั้งสิ้นราว 3,735 เมกะวัตต์ และประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2580 จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน เป็นกว่า 6 ล้านคน และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในหลายรูปแบบที่เป็นการร่วมลงทุนของภาคเอกชนและรัฐ และการลงทุนของเอกชน เป็นต้น
แผนภูมิที่ 1: กำลังการผลิตระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2551 – 2561
ที่มา: รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
กำลังการผลิต (MWp) | อัตรา adder และ FIT เดิม | อัตรา FIT 2557 – 2558 | ||
(บาท/หน่วย) | ระยะเวลา (ปี) | (บาท/หน่วย) | ระยะเวลา (ปี) | |
โซลาร์ฟาร์ม ≤ 90MWp | adder 8.5 / และ6.5 | 10 | 5.66 | 25 |
แบบติดตั้งหลังคา (ที่อยู่อาศัย) ≤ 10 kWp |
Fit 6.96 | 25 | 6.85 | 25 |
แบบติดตั้งบนอาคาร(อาคารธุรกิจ/โรงงาน) > 10-250 kWp | Fit 6.55 | 25 | 6.4 | 25 |
แบบติดตั้งบนอาคาร(อาคารธุรกิจ/โรงงาน) > 250 -1,000 kWp | Fit 6.16 | 25 | 6.01 | 25 |
ติดตั้งบนพื้นดิน (ราชการ/สหกรณ์การเกษตร) ≤ 5 WMp |
Fit 9.75 (ปีที่ 1-3)
Fit 6.50 (ปีที่ 3-10) Fit 4.5 (ปีที่ 11-25) |
25 | 5.66 | 25 |
ตารางที่ 1: อัตรารับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ปี พ.ศ. 2557 – 2558
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
บทสรุป
ความสำเร็จที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งพื้นดินประสบความสำเร็จ และมีการ ส่งไฟฟ้าเข้าระบบถึง 3,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เนื่องมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ทั้งราคารับซื้อ มาตรการทางภาษี ทำให้โครงการโซลาร์ฟาร์มได้รับความสนใจจากภาคเอกชน อย่างไรก็ตามศักยภาพของภาคเอกชนและอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ที่ราคาถูกลงอย่างมาก แต่กลับติดปัญหาที่ระบบส่งไฟฟ้าของ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่สามารถรองรับการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และจุดรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่สามารถรองรับ โดยเฉพาะ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เป็นอุปสรรคในการขยายตัวของโซลาร์ฟาร์ม
อ้างอิง
โพสต์ทูเดย์. (2560). หยุดรับซื้อไฟฟ้าใหม่. จาก https://www.posttoday.com/economy/news/499220
ประชาชาติธุรกิจ. (2563). โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรฉลุย “กฟผ.” ลุยต่ออุบลรัตน์”. จาก https://www.prachachat.net/economy/news-413554
Energy News. (2561). บอร์ด กฟผ. อนุมัติ ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์. จากhttps://www.energynewscenter.com/%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%9C-%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84/
ฐานเศรษฐกิจ. (2563). กฟภ.ดึงเอกชน ร่วมทุน 2.3 หมื่นล้าน โซลาร์ฟาร์ม 500 MW. จากhttps://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/420081?fbclid=IwAR0y5kTqJDxRFn-Yxidm4TaiG7ZRIwn3HPTU9DaUiEG4_YQHpCQL6WAHVzM
สำนักข่าว อีไฟแนนซ์ไทย. (2562). หุ้นโรงไฟฟ้าเฮ! รัฐจ่อประมูลพลังงานทดแทนเพิ่ม 10,000MW. จาก https://www.efinancethai.com/HotNews/hotnewsmain.aspx?name=OE9jclVPdkRaU2NCOXBlUlRHSU14QT09&fbclid=IwAR0sF51wZYNJTEBDCOVWi9I68pTqeXiEBUw-72j2tNtly9m6dPHjP_AmpgE
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน. (2558). การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง. จาก http://www.erc.or.th/ERCWeb2/Upload/Document/part3-Solar-Feb%2024%202015regulation.pdf
Green Network. (2561). พลังงานกับก้าวที่กล้า โซลาร์ฟาร์ม ราชการ-สหกรณ์. จากhttps://www.greennetworkthailand.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B9%82/
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (2561). รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report การติดตามสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย เสนอต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2561