สรุปประเด็นหลัก
- ข้อสงสัยและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายจากกระบวนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อันก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนได้
- นโยบายและวิธีการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศต่าง ๆ ที่มีการใช้งานพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมถึงการร่วมมือของผู้ประกอบการ
- แนวทางการกำจัดขยะที่เกิดจากแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศไทย ซึ่งขยะเหล่านี้กำลังจะเพิ่มมากขึ้นภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
บทนำ
แม้ว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์จะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกของการใช้พลังงานสะอาดแต่ตอนนี้ก็ยังคงมีมายาคติซ้ำ ๆ ว่าแผงโซลาร์เซลล์และกระบวนการผลิตนั้นแสนจะอันตราย เพราะมันมีส่วนผสมที่มีสารพิษและโลหะหนัก หากปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนได้ ซึ่งต้องขอยอมรับว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นก็พอจะจริงอยู่บ้าง แม้ใครหลายคนจะออกมาบอกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นไม่ใช่พลังงานที่สะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อแผงโซลาร์ที่มีอายุเฉลี่ย 20 ปี ถูกปลดระวางลง แผงโซลาร์ก็จะกลายเป็นขยะพิษที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดให้เป็นของเสียอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่ามลพิษที่จะเกิดจากการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงรูปแบบอื่นอย่างมหาศาล
ประเด็นที่สำคัญนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ที่โซลาร์เซลล์นั้นอันตรายอย่างไร แต่น่าจะอยู่ที่การหาทางเลือกเพื่อผลิตพลังงานที่สะอาดขึ้น พร้อมการเตรียมรับมือกับขยะโซลาร์ที่หมดอายุแล้วอย่างปลอดภัยและการจัดการอย่างมีมาตรฐาน และต่อไปนี้คือข้อมูลที่รวบรวมมาเพื่อชวนทุกคนสำรวจมายาคติความอันตรายของโซลาร์เซลล์นี้
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากแผงโซลาร์เซลล์ และแนวทางการจัดการกับขยะที่เกิดจากใช้งานแผงโซลาร์เซลล์
มีอะไรอยู่ในแผงโซลาร์ แล้วเขาผลิตกันยังไง?
แผ่นกระจกที่นำมาผลิตแผงโซลาร์นั้นผลิตมาจากซิลิคอน ส่วนกรอบของแผงผลิตมาจากอะลูมิเนียมและสายพ่วงต่าง ๆ ผลิตมาจากทองแดง ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีส่วนประกอบของโลหะหนักหรือสารพิษที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม แผ่นฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดบางนั้นอาจจะมีส่วนผสมของโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อหลายอวัยวะในร่างกาย เช่น ตับ ไต กระดูก และอาจทำให้เลือดจางได้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีการรั่วไหลของสารเหล่านี้ออกมาจากแผงโซลาร์แต่อย่างใด
จุดสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่กระบวนการผลิต เพราะขั้นตอนการผลิตแผงโซลาร์นั้นมีการใช้สารเคมีอันตรายและโลหะที่เป็นพิษเพื่อทำความสะอาดผิวหน้าแผง เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดไนตริก และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ โดยปัจจุบันนี้เริ่มมีการทดลองไปใช้วัตถุดิบทางเลือกอื่น ๆ ที่ปลอดภัยมากกว่าแล้ว ถึงแม้ว่าจะดูค่อนข้างอันตราย แต่นั่นไม่ควรเป็นเหตุผลที่จะทำให้เราถอดใจกับการหาพลังงานสะอาดเช่นพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นทางเลือกในการใช้งาน เพราะทั้งหมดนั้นอยู่ที่การวางมาตรฐานของกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และต่อแรงงานทุกคนที่อยู่เบื้องหลังการผลิต รวมถึงการจัดการกับขยะที่รอบคอบต่างหาก เพราะจะว่าไปแล้วแผงโซลาร์ก็คือขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วมีอายุยืนยาวมากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
รีไซเคิลแผงโซลาร์ ลดการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์
ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมชี้ว่า ประเทศไทยเริ่มใช้โซลาร์เซลล์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 และเมื่อแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ปี นั่นทำให้ภายในปี ค.ศ. 2022 นั้นจะมีขยะจากแผงโซลาร์สะสมสูงถึง 6.2 – 7.9 แสนตัน ซึ่งนอกจากจะต้องวางแผนจัดการกับขยะดังกล่าวอย่างมีมาตรฐานแล้วนั้น อีกหนึ่งทางเลือกก็คือ การสนับสนุนให้มีการรีไซเคิลแผงโซลาร์อย่างปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนั้นจะทำให้เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทิ้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้ให้น้อยที่สุดนั่นเอง
โดยแผ่นกระจกบนแผงโซลาร์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และสารกึ่งตัวนำต่าง ๆ อีก 95 เปอร์เซ็นต์นั้นสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ตัวอย่างในสหภาพยุโรปที่มีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อความจริงจังในการรีไซเคิลและจัดการขยะเหล่านี้ หรือตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่เข้มงวดตั้งแต่กระบวนการขนส่งและแปรรูปของเสียการคัดแยกขยะและวัตถุมีค่าอย่าง เงิน ทองแดง และแร่ธาตุอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ของที่ยังมีค่าอยู่ถูกกำจัดไปอย่างสูญเปล่า และที่ญี่ปุ่นยังออกกฎให้เจ้าของขยะต้องจ่ายค่าจัดการของเสียให้กับตัวแทนจำหน่าย แต่ถ้าตัวแทนจำหน่ายไม่สามารถจัดการได้ จะจัดตั้งองค์กรกลางเข้าไปดูแลการเก็บขยะพวกนี้แทน
ในประเทศไทยเองก็มีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้วาง 3 แนวทางเพื่อรับมือกับขยะแผงโซลาร์ไว้ คือ
1) การรับคืนแผงโซลาร์ที่หมดอายุ 2) การเปิดโรงงาน Reuse และซ่อมแซมแผงโซลาร์ 3) การรับซากแผงโซลาร์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล
จะทำยังไงให้พลังงานแสงอาทิตย์เกือบสะอาด สะอาดได้เต็มร้อย?
สิ่งที่หลายฝ่ายถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผ่นโซลาร์นั้นเกือบจะเป็นพลังงานสะอาดอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงมีข้อกังวลทั้งเรื่องสารเคมี ขยะพิษ และการจัดการซากแผงโซลาร์ที่หมดอายุการใช้งาน และสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพต่อทั้งตัวผู้ใช้งานคนในสังคม และที่สำคัญที่สุดคือเหล่าคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังการผลิตแผงโซลาร์ รวมถึงในอุตสาหกรรมทั้งการรีไซเคิลและการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้
การใช้พลังงานสะอาดจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านการออกมาตรการที่รัดกุม ชัดเจน และเป็นธรรมด้วย และต้องตระหนักไว้ว่า ทั้งกระบวนการผลิต การใช้งาน และการดูแลขยะนั้นล้วนมีต้นทุนและผลกระทบให้จ่ายทั้งสิ้น เมื่อแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดเริ่มได้แพร่หลายมากขึ้น คนเริ่มหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้นทุกวัน ๆ รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะร่วมกันหามาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการบริหารจัดการตลอดทั้งกระบวนการของการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์นี้
บทสรุป
พลังงานจากแสงอาทิตย์นับว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่ส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะแผ่นฟิล์มบางชนิดจะมีส่วนผสมของโลหะหนัก ซึ่งหากมีการรั่วไหล อาจจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่อันตรายที่สุดมาจากความอันตรายในกระบวนการผลิตมากกว่า เนื่องจากมีการใช้สารเคมีอันตราย ถ้าหากผู้ผลิตมีมาตรฐานในการผลิตที่ดี ความอันตรายของแผ่นโซลาร์เซลล์ก็แทบจะไม่มีเลยทั้งนี้ เมื่อแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ ควรมีจัดการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งบ้านเราเองก็มี 3 แนวทางเพื่อรับมือกับขยะแผงโซลาร์ไว้แล้ว คือ 1) การรับคืนแผงโซลาร์ที่หมดอายุ 2) การเปิดโรงงาน Reuse และซ่อมแซมแผงโซลาร์ 3) การรับซากแผงโซลาร์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล
อ้างอิง
กรีนพีช ไทยแลนด์. (2561). มายาคติ: แผงโซลาร์เป็นอันตรายเพราะมีส่วนผสมของวัสดุที่เป็นพิษจำนวนมาก. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/2883/renewable-energy-myth-solar-cells-toxic/
ณิชชา บูรณสิงห์. (2561). แผงโซลาร์เซลล์ : ขยะพิษที่ไม่ควรมองข้าม. จากhttps://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2561/sep2561-1.pdf
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม กรีนนิวส์. (2559). เตือนโซล่าเซลล์หมดอายุกลายเป็น ‘ขยะพิษ’ สกว.หวั่นอีก 40 ปี ซากอันตรายพุ่ง 6 แสนตัน. จาก https://greennews.agency/?p=10128
ผู้จัดการออนไลน์. (2562). อีก 3 ปีไทยเจอแน่ !! “มลพิษแผงโซลาร์เซลล์” ก.อุตฯ ชู 3 แนวทางป้องกันก่อนกำจัดซาก !. จาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000034986
ทีมข่าวทีซีไอเจ. (2561). จับตา: ตัวอย่างการจัดการขยะโซลาร์เซลล์ใน ‘เยอรมนี-ญี่ปุ่น’. จาก https://www.tcijthai.com/news/2018/04/watch/7790
วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร. (2560). เหรียญอีกด้าน ของ ‘พลังงานหมุนเวียน’. จากhttps://greennews.agency/?p=15424