สรุปประเด็นหลัก
- เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก แต่กลับยังไม่มีวิธีบริหารจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีวิธีบริหารจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
บทนำ
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหมือนความหวังสำคัญ ที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกแม้ภาพลักษณ์ของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะดูเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถก่อให้เกิดมลพิษจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste)ที่ปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อสะท้อนระบบการจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ของประเทศไทยและต่างประเทศ
ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์
เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก จึงมีการคาดการณ์กันว่า หากไม่มีการจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มมากขึ้นในอีกราว 20 ถึง 30 ปีข้างหน้า เมื่อแผงโซลาร์เซลล์เหล่านั้นหมดอายุ เอเชียอาจจะเต็มไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายล้านตัน ซึ่งในขณะนี้ประเทศในเอเชียกลับมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เตรียมการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แม้ประเทศไทยจะมีการเตรียมแผนรับมือขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การจะนำขยะจากแผงโซลาร์เซลล์เหล่านั้นมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยโครงสร้างการรีไซเคิลขยะในประเทศที่มีประสิทธิภาพและกฎหมายข้อบังคับอีกมากมาย
ปัญหาใหญ่ในเอเชีย
ขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานเป็นต้นกำเนิดของสารเคมีอันตรายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทองแดง นิกเกิล สังกะสี ไปจนถึงลิเทียม หากไม่สามารถจัดการขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ได้ดีพอ อาจทำให้สิ่งแวดล้อมมีการปนเปื้อนสารเคมีเหล่านั้น เหมือนในกรณีของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างปัญหามลพิษ
ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลก อยู่ที่ราว 280 GW โดยเพียงแค่จีนประเทศเดียวก็มีกำลังการผลิตสูงถึง 170 GW ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาทาง International Renewable Energy Agency หรือ IRENA คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 เอเชียจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 1,680 GW และในปี พ.ศ. 2593 จะสูงถึง 4,837 GW เป็นตัวเลขที่สูงเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดในโลก โดยแผงโซลาร์เซลล์ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 – 30 ปี
“End-of-life management: Solar Photovoltaic Panels” รายงานอีกชิ้นหนึ่งของ IRENA ได้ประเมินว่า ในปี พ.ศ. 2593 โลกจะมีขยะแผงโซลาร์เซลล์สูงถึงราว 78 ล้านตัน โดยมีถึง 3 ประเทศในเอเชียที่ติดห้าอันดับแรกที่จะมีขยะแผงโซลาร์เซลล์มากที่สุดคือ จีน 20 ล้านตัน สหรัฐอเมริกา 10 ล้านตัน ญี่ปุ่น 7.5 ล้านตัน อินเดีย 7.5 ล้านตัน และเยอรมนี 4.3 ล้านตัน
สถานการณ์ในไทย
ไทยเป็นประเทศที่ต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งจากโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ไปจนถึงการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอาคารบ้านเรือนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก” หรือ AEDP ตั้งเป้าไว้ให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ที่ 6,000 MW ภายในปี พ.ศ. 2579 จากเดิมที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตเพิ่มอยู่ที่ 2,982.62 MW
การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไปตามแผนนั้น จะทำให้มีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวในอนาคต “แผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์: เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)” จัดทำโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวางแนวทางจัดการปัญหาที่ตามมา ได้ระบุว่าปัจจุบันมีตัวเลขการฝังกลบแผงโซลาร์เซลล์ในไทยแล้ว 246 ตัน โดยประเมินว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ 1 วัตต์จะทำให้เกิดขยะ 0.102 กิโลกรัม
และหากผลิตไฟฟ้า 1 MW จะทำให้เกิดขยะประมาณ 100 ตัน มีการคาดการณ์ว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์สูงถึง 7.5 แสนตัน หรือ 36 ล้านแผง
สอดคล้องกับ “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ และคณะ ที่ประเมินว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึงปีพ.ศ. 2588 ประเทศไทยจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์สะสมอยู่ประมาณ 626,301 – 794,840 ตัน สามารถแยกประเภทได้เป็น กระจก อะลูมิเนียม และทองแดง โดยกระจกมีปริมาณรวมถึง 195,403 – 286,475 ตัน จากแผงทุกประเภท อะลูมิเนียมมีปริมาณราว 20,000 – 30,000 ตัน และทองแดงมีปริมาณอยู่ประมาณ 1,000 – 2,000 ตัน ส่วนโลหะที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมก็คือ ตะกั่วจะกลายเป็นของเสีย 134.2 – 198 ตัน และแคดเมียมจำนวน 0.65 – 0.95 ตัน
หากประเทศไทยยังคงมีการกำจัดขยะเหล่านี้โดยวิธีฝังกลบแบบเดิม จะทำให้สารเคมีที่จะเกิดขึ้นอาจปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ไปจนทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่สารเคมีจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในระดับห่วงโซ่อาหาร
ตัวอย่างการจัดการขยะโซลาร์เซลล์ในต่างประเทศ
ในเอเชียซึ่งมีแนวโน้มจะเต็มไปด้วยขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ แต่มีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวที่ออกกฎหมายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อรองรับปัญหาขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2040 ญี่ปุ่นจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 800,000 ตัน
ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายหลัก ๆ 2 ฉบับ คือ “the Law for Promotion of Effective Utilization ofResources (LPUR)” และ “the Law for Recycling of Specified Home Appliance” ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมลดการเกิดขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่
โดยกำหนดให้เป็นภาระของเจ้าของแผงโซลาร์เซลล์ที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งคิดค่าบริการจัดเก็บอยู่ที่ 8 ยูโรต่อโซลาร์เซลล์ 1 แผง ซึ่งมีการจัดให้มีจุดรวบรวมแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศ โดยให้นำแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แล้วไปทิ้งไว้ และมีบริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดเก็บรวบรวม
ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากสหภาพยุโรปที่มีการกําหนดแนวทางการบริหารจัดการขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งถูกรวมเข้าไปเป็นประเภทหนึ่งของขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเรียกว่า Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) Directive แนวทางนี้ครอบคลุมถึงการจัดเก็บ การขนส่ง และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อมาภายหลังแนวทางนี้ได้กลายเป็นกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2546
สหภาพยุโรปกำหนดให้ผู้ผลิตมีภาระที่จะรวบรวมแผงโซลาร์เซลล์มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยกลุ่มผู้ผลิตในยุโรปได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรที่ชื่อ PV Cycle เพื่อทำงานเป็นตัวกลางในการรวบรวมแผงโซลาร์เซลล์ในทวีปยุโรป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2558 PV Cycle ได้เก็บและรีไซเคิลรวมกันถึง 13,000 ตัน โดยเป็นแผงจากประเทศเยอรมนี ถึง 7,637 ตัน
เยอรมนีจึงเป็นประเทศตัวอย่างในด้านการจัดการขยะโซลาร์เซลล์ โดยมีการลงทะเบียนแผงโซลาร์เซลล์ทุกชิ้นที่ผลิตขึ้นหรือนำเข้ามา เพื่อติดตามหาผู้ผลิตมารับผิดชอบนำไปรีไซเคิล เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศเยอรมนีที่ต้องการจะรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์จากน้ำหนักทั้งหมดในอนาคต
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับโครงสร้างระบบรีไซเคิลของไทย
รูปที่ 1:
มีการคำนวณว่า หากมีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 60 – 78 ล้านตัน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2593 จะได้วัตถุดิบมีค่าสูงถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสามารถนำไปผลิตแผงใหม่ได้ถึง 2 พันล้านแผงการรีไซเคิลจึงดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ แต่จากงานศึกษาที่ระบุว่าการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นใหม่ในหลายพื้นที่ของโลกนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสร้างแผงขึ้นมาใหม่ ทำให้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดในโลกถูกฝังกลบ เพราะผู้ประกอบการมองว่า อาจไม่คุ้มค่าเงินในการนำไปรีไซเคิล
การนำขยะโซลาร์เซลล์มารีไซเคิล มีลักษณะแบบเดียวกันกับการรีไซเคิลขยะทั่วไป หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่น ๆ ที่ต้องใช้โครงสร้างระบบการจัดการขนาดใหญ่ ตั้งแต่ผู้ผลิต การตระหนักรู้ของผู้บริโภค ระบบการจัดการรวบรวม โรงงานรีไซเคิลที่เพียงพอ ไปจนถึงกฎหมายและนโยบายที่ครอบคลุม
เมื่อดูจากประเทศที่ถูกยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีแนวทางจัดการขยะจากโซลาร์เซลล์ที่ดี อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น พบว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่มากที่สุดในโลก ส่วนญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำขยะไปผลิตพลังงานมากที่สุดในโลก และทั้งสองประเทศยังมีอัตราการนำพลาสติกไปรีไซเคิลที่สูงมากอีกด้วย
ในขณะที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่สามารถรีไซเคิลขยะรูปแบบต่าง ๆ ได้น้อย แม้ว่าประเทศไทยจะมีแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์: เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่วางแผนให้ในอนาคตจะสามารถรีไซเคิลเพื่อนำขยะจากแผงโซลาร์เซลล์กลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานที่รับรีไซเคิลอย่างครบวงจร เนื่องจากปัญหาด้านความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีซากแผงโซลาร์เซลล์ในจำนวนที่มากเพียงพอ ทำให้ขณะนี้ยังคงใช้วิธีฝังกลบเป็นหลัก
เมื่อไม่มีโรงงานรีไซเคิลโดยเฉพาะ กลไกลที่ใช้จัดการกับขยะโซลาร์เซลล์ จึงเป็นการใช้โรงงานรีไซเคิลและโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว อย่างโรงงานประเภท 101 ตามกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำหน้าที่กำจัดกากอุตสาหกรรมประเภท 105 เกี่ยวกับการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลจากอุตสาหกรรม และประเภท 106 ที่เป็นโรงงานที่สามารถนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่
ตามรายงานของ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ได้อธิบายถึงปัญหาประการหนึ่งที่อาจทำให้ไม่เกิดการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ คือ ปริมาณจำนวนโรงงานประเภทที่ 105 และพื้นที่การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดย 5 จังหวัดที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากที่สุดคือ สระแก้ว 253.13 MW ลพบุรี 221.10 เพชรบุรี 197.14 นครปฐม 171.41 และนครสวรรค์ 155.33 แต่จังหวัดสระแก้วกลับมีโรงงานคัดแยกประเภท 105 จำนวนเพียง2 โรงงาน และโรงงานคัดแยกมักให้ความสนใจในขยะที่แยกได้ง่ายและขายได้ง่าย เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก สายไฟ เท่านั้น
ขยะที่มีสารปนเปื้อน ไม่มีมูลค่า หรือคัดแยกได้ยาก เช่น แผ่นเวเฟอร์ แผ่นกระจกนิรภัยแตก หรือกระจกที่ปนเปื้อนฟิล์ม EVA ผู้ประกอบการมักไม่นิยมนำมาคัดแยก และกลายเป็นภาระที่ทำให้โรงงานต้องนำไปฝังกลบ
ข้อมูลจาก “โครงการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย” พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนโรงงานที่รับกำจัดหรือบำบัดขยะอุตสาหกรรม (โรงงานประเภท 101, 105, 106) ต่อโรงงานผู้ก่อกําเนิดขยะอุตสาหกรรม อยู่ที่ 1 ต่อ 40 แต่ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ตามแหล่งอุตสาหกรรมในภาคกลางและภาคตะวันออก สัดส่วนที่สูงที่สุดคือ ภาคตะวันออก 1 ต่อ 12 และภาคกลาง 1 ต่อ 44 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 1 ต่อ 102 ภาคเหนืออยู่ที่ 1 ต่อ 102 ภาคใต้อยู่ที่ 1 ต่อ 121
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามประเภท 106 ที่ดำเนินการรีไซเคิลขยะประเภทอื่นอยู่แล้ว มาขยายศักยภาพให้เป็นศูนย์รีไซเคิลขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ จากการคาดการณ์จำนวนขยะโซลาร์เซลล์จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี พ.ศ. 2581 ภาคกลางจะมีปริมาณมากที่สุดจำนวน 161,350.63 ตัน จาก 1,406 โรงไฟฟ้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 54,631.01 ตัน จาก 180 โรงไฟฟ้า ภาคตะวันออกจำนวน 44,583.69 จาก 111 โรงไฟฟ้า ภาคเหนือจำนวน 21,131.51 จาก 157 โรงงาน และน้อยสุดคือ ภาคใต้ จำนวน 1,488.15 ตัน จาก 420 โรงงาน
แต่เมื่อดูตัวเลขโรงงานประเภท 106 ภาคกลางมีโรงงานประเภท 106 อยู่ 61 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีโรงงานประเภท 106 ตั้งอยู่เลย ภาคตะวันออก 21 โรงงาน และภาคใต้มีภาคละ 1 โรงงาน
การกระจายตัวของโรงงานจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการนำขยะแผงโซลาร์เซลล์มารีไซเคิล เพราะยิ่งต้องขนส่งไปไกล ๆ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการรีไซเคิลยิ่งน้อยลง รวมไปถึงความยากในการจัดตั้งจุดรับขยะจากแผงโซลาร์เซลล์เหมือนในต่างประเทศ
ขยะโซลาร์เซลล์นั้นปัจจุบันถูกบริหารจัดการอย่างกระจัดกระจาย และในบางโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเก็บขยะโซลาร์เซลล์ไว้ไม่ได้มีการขนย้ายไปจัดการ เนื่องมาจากเหตุผลที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีการนำขยะโซลาร์เซลล์ไปรีไซเคิล ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลติดตามหรือทําการรวบรวม
ดังนั้น การจะรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเดี่ยว ๆ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับองค์รวมของโครงสร้างการรีไซเคิลขยะในประเทศอีกด้วย
บทสรุป
เอเชียเป็นทวีปที่มีอัตราการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์มากที่สุด แต่ประเทศที่ออกกฎหมายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อรองรับปัญหาขยะจากแผงโซลาร์เซลล์กลับมีเพียงญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศไทยนั้น ขยะโซลาร์เซลล์ถูกบริหารจัดการอย่างกระจัดกระจายและยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลติดตามอย่างเป็นระบบ
อ้างอิง
International Renewable Energy Agency (2019). Future of solar photovoltaic. From https://www.irena.org/publications/2019/Nov/Future-of-Solar-Photovoltaic
International Renewable Energy Agency (2016). End-of-life management: Solar Photovoltaic Panels. From https://www.irena.org/publications/2016/Jun/End-of-life-management-Solar-Photovoltaic-Panels
เอกบุตร อุตมพงศ์. (2562). แผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์:เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์). จาก http://www.tei.or.th/tbcsd/event/171122-tbcsd-1.pdf
พิชญ รัชฎาวงศ์ และคณะ. (2558). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า. จาก https://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG58D0006
PV CYCLE. (2016). ANNUAL REPORT 2016. From http://www.pvcycle.org/wp-content/uploads/2017/08/2016-Annual-Report-PV-CYCLE-AISBL.pdf
Idiano D’Adamo. (2017). Economic Feasibility for Recycling of Waste Crystalline Silicon Photovoltaic Modules. From https://www.hindawi.com/journals/ijp/2017/4184676/