สรุปประเด็นหลัก
- พื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยประสบปัญหาสายส่งกระแสไฟฟ้าไปไม่ถึง หรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนวางสายส่ง ทำให้เกิดโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกล
- โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหาด้านการบริหารจัดการและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
บทนำ
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อพื้นที่ห่างไกล มีความเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี แต่อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจนถึงบัดนี้โครงการส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเพียง “โครงการนำร่อง” สำหรับโครงการใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลไทยในอดีตเคยทำมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท คือ โครงการระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์โฮมเพื่อใช้งานในครัวเรือนชนบทครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งไม่บรรลุเป้าหมาย หรืออย่างโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น ประชาชนกลับไม่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลที่รัฐต้องสูญเสียไป จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 และมีเหตุให้ต้องสอบสวนกันวุ่นวายอยู่ในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคที่ทำให้โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลไม่ประสบความสำเร็จ
โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกล: ความหวังอันห่างไกล
โดยหลักการแล้ว โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลนั้น ทำเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งสายส่งกระแสไฟฟ้าไปไม่ถึง หรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนวางสายส่ง เช่น
บนเกาะ ภูเขาสูง หรือในบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่เพียงเล็กน้อย ซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่แล้ว พื้นที่เหล่านั้นยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ภาครัฐจึงกำหนดนโยบายการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้มีไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งแสงสว่าง การสื่อสาร การศึกษา สาธารณสุข และเกษตรกรรมโดยเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2530 ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการสูบน้ำในโครงการอีสานเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง
ในปี พ.ศ. 2533 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในเวลานั้น คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเดิม คือ กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มให้การสนับสนุนงบประมาณติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการสูบน้ำ และเพื่อการประจุแบตเตอรี่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ยังไม่จริงจังนัก จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2540 ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร จึงเริ่มใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ได้แก่ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในครัวเรือน ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ชนบท ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานใช้งานในอุทยานแห่งชาติและเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของกรมป่าไม้
ในปี พ.ศ. 2548 มีการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในครัวเรือนสำหรับพื้นที่ในชนบทจำนวน 203,000 ระบบ โดยการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดประมาณ 5,625.28 ล้านบาท จากภาครัฐ โดยการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โครงการนี้จัดได้ว่าเป็นโครงการที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเขตห่างไกล มีการยกขึ้นมาเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2548 และหลังจากนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบและออกรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้โครงการไม่บรรลุเป้าหมาย
วันมูหะหมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้เสนอโครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System – SHS) เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ โดยมีหลักการว่า บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในเขตป่าเขาหรือเกาะ ไม่สามารถปักเสาพาดสายได้ ให้ใช้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการ จากการสำรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มีทั้งสิ้น 290,716 ครัวเรือน โดยแบ่งโครงการออกเป็น 2 ปีงบประมาณ คือปี พ.ศ. 2547 และ 2548 รวมทั้งสิ้น 7,631,295,000 บาท เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ออกข้อกำหนดโครงการ (TOR) โดยได้กำหนดคำว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย” แต่รัฐมนตรีถูกกล่าวหาในสภาผู้แทนราษฎรว่า โครงการนี้เข้าข่ายล็อกสเปค เพราะจากการกำหนดคำดังกล่าว ทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสามารถเข้าประมูลได้มีเพียงรายเดียว
ต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าว และออกรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 มีครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องดำเนินการติดตั้งระบบ 203,000 ครัวเรือน ใน 73 จังหวัด โดย กฟภ. เป็นผู้ติดตั้งระบบ SHS และส่งมอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) รับผิดชอบดูแล จากการสุ่มตรวจของ อปท. จำนวน 422 แห่ง ในพื้นที่ดำเนินโครงการ 60 จังหวัด ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับการติดตั้งระบบ SHS จำนวน 72,647 ระบบ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,816.18 ล้านบาท พบว่า มีงานหลายแห่ง ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ขาดการดูแลรับผิดชอบ บางพื้นที่ระบบถูกทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า อีกทั้งยังเสียโอกาสในการสะสมรายได้จากการจัดเก็บค่าบำรุงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบอย่างน้อยปีละ 38.39 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังพบว่าการติดตั้งระบบ SHS ให้แก่ครัวเรือนก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีการติดตั้งให้กับครัวเรือนที่ใช้ระบบไฟฟ้าปกติได้ หรือติดตั้งกับสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ใช่บ้านเรือน เช่น คอกสัตว์ โรงรถ ศาลาที่พัก เป็นต้น อีกทั้งยังมีครัวเรือนที่ไม่ได้ใช้งานระบบ SHS เนื่องจากมีระบบไฟฟ้าปกติเข้าถึงภายหลังการติดตั้งเพียงปีเศษ และมีบางแห่งนำระบบไปใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมาก เช่น พัดลม ตู้เย็น ปั๊มน้ำ เป็นต้น ทำให้ระบบจ่ายไฟได้ในระยะสั้นลงและอาจชำรุดเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการนั้นจะได้รับการประเมินว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ก็ไม่ได้เป็นบทเรียนอะไรให้กับการดำเนินนโยบายผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในเขตห่างไกลในอีก 10 ปีต่อมา เพราะยังมีปัญหาแบบเดียวกันเกิดขึ้นกับ “โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”ซึ่งดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2559 งบประมาณรวม 1,011 ล้านบาท ติดตั้งเสาไฟไปทั้งสิ้น 14,849 จุด ราคาเฉลี่ยจุดละ 63,000 บาท ซึ่งปรากฏว่ามีปัญหาชำรุดเสียหายจำนวนมาก ถูกประชาชนในท้องถิ่นร้องเรียนในที่สุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องจัดสรรงบประมาณไปซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2560 ทั้งที่เพิ่งใช้งานไปได้ไม่นาน ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 วันมูฮะมัดนอร์ มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ได้อภิปรายถึงโครงการ “โคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์” ทั้งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และส่วนที่องค์กรท้องถิ่นติดตั้งกันเองว่า ใช้จ่ายงบประมาณพันกว่าล้านบาท แต่กลับไม่มีความคุ้มค่า เพราะมีความชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีเสาไฟโซลาร์เซลล์ 5,445 ต้น ใช้ได้แค่ 2,100 ต้น ชำรุดเสียหายสี่พันกว่าต้น คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ และในจังหวัดปัตตานี มีจำนวนเสาไฟฟ้า ติดตั้ง 4,900 ต้น เสียหาย 3,719 ต้น คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดยะลา ติดตั้ง 3,896 ต้น ใช้ได้แค่ 926 ต้น
ก่อนหน้านี้ อิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวยอมรับในงานสัมมนา “ปัญหาเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กับแนวทางป้องกัน” จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 9 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลาว่า โครงการนี้มีปัญหาจริงในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง และอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ สาเหตุมาจาก 4 ประเด็น คือ การบริหารจัดการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการไปติดตั้งเสาไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหลายจุด เป็นจุดอับแสงทำให้แบตเตอรี่เก็บไฟไม่ได้ ขณะที่ตัวแบตเตอรี่เองก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หลายจุดถูกขโมย ความหละหลวมในการบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ เมื่อโครงการที่ทำไปแล้วมีปัญหาต้องตั้งงบประมาณไปซ่อมแซม และไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเสาไฟโซลาร์เซลล์ในระยะยาวได้ แม้จะพยายามส่งมอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยดูแล แต่เมื่อโครงการมีปัญหาและต้องซ่อมแซม ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตรวจสอบโครงการนี้ และมีการตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางลงไปตรวจสอบในพื้นที่ กระทั่งได้ข้อสรุปว่าโครงการมีปัญหาจริง ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องการบริหารงบประมาณ เพราะใช้เงินจำนวนมาก เมื่อโครงการมีปัญหาก็ต้องตั้งงบซ่อมแซมซ้ำอีก นอกจากนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เคยตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปว่าโครงการนี้มีปัญหาอีกเช่นกัน เพราะประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลที่รัฐต้องสูญเสียไป
อย่างไรก็ตาม ขณะที่โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงมีปัญหาที่ต้องตามแก้ไขและใช้งบประมาณในการซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ กลับยังมีงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริม
การอนุรักษ์พลังงาน เทลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อีกราว ๆ 1,000 ล้านบาท ส่งตรงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำโครงการติดตั้งเสาไฟและไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์และเครื่องสูบน้ำโซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชนบท ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 16 หมู่บ้าน 2,800 ครัวเรือน ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2555 – 2560)
สำหรับในพื้นที่หุบเขา เช่น อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบอาชีพทำไร่ ชุมชนหมู่บ้านที่ซ่อนอยู่ในทิวเขาเหล่านี้มีหลายหมู่บ้านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้ ก็มีโครงการโซลาร์เซลล์เข้าไปยังพื้นที่ เช่นเดียวกันกับชุมชนตามเกาะแก่ง เช่น ชุมชนเกาะจิกจังหวัดจันทบุรี ที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ชุมชนจึงได้พัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าบนเกาะเองจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์
อีกโครงการในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึง คือ 3 ชุมชนของอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ได้แก่ ชุมชนบ้านปงผาง ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ มีประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวนทั้งสิ้น 365 ครัวเรือน ทางกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุรกันดาร ด้วยการติดตั้งระบบต้นแบบไมโครกริด (Microgrid) และวางระบบสายส่งไฟฟ้าชุมชนตามศักยภาพการใช้งานในแต่ละพื้นที่โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยใช้เทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงมาใช้ พร้อมทั้งติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและสำหรับการเกษตร
ปัจจุบัน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ขับเคลื่อนแผนการใช้พลังงานทดแทนโดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตาม “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” โดยเฉพาะโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบเรือนกระจก (พาราโบลาโดม) และโครงการส่งเสริมระบบบ่อเลี้ยงปลาแสงอาทิตย์สำหรับชุมชน นอกเหนือไปจากโครงการที่ พพ. ดำเนินการอยู่ใน 2 โครงการหลัก คือ โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2 กิโลวัตต์ และโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งรวมดำเนินการแล้ว 846 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2.5 กิโลวัตต์ ครอบคลุม 56 จังหวัด
นอกจากนั้นแล้ว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (สนับสนุนโครงการไทยนิยมยั่งยืน) คือ (1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนและขยายโอกาสทางการเกษตร (2) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางไกลและนวัตกรรมทางการศึกษา (3) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท โดยมีกำลังการผลิตรวมของทั้ง 3 ระบบเป็นจำนวน 7,709 กิโลวัตต์ และ 13,407 กิโลวัตต์ สำหรับผลการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (เพิ่มเติม) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามลำดับ
บทสรุป
ปัญหาการบริหารจัดการดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดสำหรับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะประชาชนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์และการใช้งาน รวมถึงการบำรุงรักษา จะส่งผลให้โครงการ
ไม่ประสบความสำเร็จหรือถูกทิ้งร้างด้วยว่าไม่เห็นประโยชน์ ในที่สุดก็นำไปสู่ข้อสรุปว่าเป็นโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าแก่การลงทุน
อ้างอิง
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (ม.ป.ป.). รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๖. จาก https://www.solarhub.co.th/content/solar-thai-update-2558.pdf
RYT 9. (2547). เปิดข้อมูลหลักฐานซักฟอก 8 รัฐมนตรี : “แฉล็อคสเปค โซลาเซลล์” อภิปรายไม่ไว้วางใจนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี. จาก https://www.ryt9.com/s/ryt9/138728
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน. (ม.ป.ป.). รายงานการตรวจสอบรายงานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์. จาก https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/inspection-results/6.2008010002.1.pdf
ผู้จัดการออนไลน์. (2557). ย้อนรอย จัดซื้อจัดจ้าง “โซลาร์ โฮม” ป.ป.ช.ปล่อยผี “เสริมศักดิ์-บอร์ด กฟภ.” รอด. จาก https://mgronline.com/daily/detail/9570000038314
สำนักข่าวอิศรา. (2563). ‘วันนอร์’ อ้างข้อมูลอิศรา แฉเสาไฟผีหลอกใต้ ทำไมต้องให้ทหารเขียนสเปค มีเงินทอนไหม?. จาก https://www.isranews.org/isranews-article/86002-solarcell00.html
สำนักข่าวอิศรา. (2562). เสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้ชำรุดเสียหายกว่า 70% ละลายงบพันล้าน?. จาก https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/78643-solarcells.html
สำนักข่าวอิศรา. (2561). ศอ.บต. รับ “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ผิดพลาด หละหลวม. จากhttps://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/71979-solar-71979.html
สำนักข่าวอิศรา. (2562). ไม่สนฝนชุก! เทอีกพันล้าน…โซลาร์เซลล์ชายแดนใต้. จากhttps://www.isranews.org/south-news/scoop/77973-rain-77973.html
ไทยรัฐออนไลน์. (2556). สจล.ดันโซลาร์เซลล์ชุมชน เพื่อถิ่นทุรกันดาร 2,800 ครัวเรือน. จากhttps://www.thairath.co.th/content/357077
Supang Chatuchinda. (2562). พลังงานแสงอาทิตย์ในทิวเขา : เรื่องราวการใช้โซลาร์เซลล์ต่อชีวิตผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/10324/climate-solarfund-solar-energy-willy-muenhong/
Supang Chatuchinda. (2563). เมื่อชุมชนลงมือทำ รู้จัก ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ บนเกาะจิก. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/11137/climate-renewable-energy-kohjik-solar-energy/
Green Network. (2562). ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนทุรกันดารด้วยโมเดล Micro Grid ในพื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านผาด่าน จ.ลำพูน. จาก https://www.greennetworkthailand.com/%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-micro-grid/
ผู้จัดการออนไลน์. (2561). “พพ.” ชูโครงการไทยนิยมยั่งยืน ดันชุมชนใช้พลังงานทดแทนพื้นที่ห่างไกล. จาก https://mgronline.com/business/detail/9610000070744
กระทรวงพลังงาน. (2562). กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ส่งเสริมนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์. จากhttps://energy.go.th/2015/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7/