สรุปประเด็นหลัก
- โซลาร์ฟาร์มในเมืองต้าถงของจีน มีการนำแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากมาเรียงต่อกันให้เป็นรูปหมีแพนด้า เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คนและสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ในจีนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
- ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ส่งผลให้แนวโน้มการสร้างโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยลดลง
บทนำ
จีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์ เห็นได้จากความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มหรือโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามเมืองต่าง ๆ เพื่อลดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักและก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศของประเทศ ในบรรดาเมืองที่เป็นแหล่งที่ตั้งของโซลาร์ฟาร์ม เมืองต้าถง มณฑลซานซี นับเป็นเมืองที่มีความพิเศษกว่าเมืองอื่น ๆ เนื่องจากโซลาร์ฟาร์มที่เมืองแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากมาเรียงต่อกันเท่านั้นแต่โซลาร์ฟาร์มของที่นี่กลับดึงดูดความสนใจของผู้คนด้วยการออกแบบให้เป็นรูปสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีนอย่างหมีแพนด้า
วัตถุประสงค์ของบทความ
เพื่อนำเสนอรูปแบบการสร้างโซลาร์ฟาร์มให้เป็นที่น่าดึงดูดและสร้างความตระหนักถึงการใช้พลังงานสะอาดให้กับคนรุ่นใหม่ในสังคม
แพนด้าฟาร์ม ฟาร์ม (พลังงาน) สะอาด
โซลาร์ฟาร์มรูปแพนด้าถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2016 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท Panda Green Energy ของจีน และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สำหรับแนวคิดในการออกแบบนั้นมาจากความตั้งใจที่จะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และเยาวชนชาวจีนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
โซลาฟาร์มแห่งนี้มีพื้นที่ราว 250 เอเคอร์ (632.5 ไร่) และเมื่อก่อสร้างครบ 2 เฟสจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะติดตั้งเป็นรูปแพนด้ายักษ์แล้ว บริษัทเจ้าของไอเดียยังได้นำแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งผลิตจากวัสดุที่แตกต่างกันมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดุดตา โดยส่วนที่เป็นสีดำนั้นใช้โซลาร์เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์ ซิลิคอน และส่วนที่เป็นสีอ่อนนั้นใช้โซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง ซึ่งเมื่อมองจากมุมสูงเราจะเห็นโซลาร์ฟาร์มรูปแพนด้าได้อย่างชัดเจน นอกจากโซลาร์ฟาร์มที่เมืองต้าถงแล้ว บริษัทฯ ยังมีโครงการที่จะขยายโซลาร์ฟาร์มรูปแพนด้าไปยังเมืองอื่น ๆ ของจีนอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยเอง โซลาร์ฟาร์มเกิดในไทยในช่วงแรก ๆ และเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่แนวโน้มการสร้างโซลาร์ฟาร์มในไทยได้ลดลงเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและเอกชนของไทยสามารถนำโซลาร์ฟาร์มรูปแพนด้าของบริษัท Panda Green Energy มาประยุกต์ใช้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์กันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้จริง ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นโซลาร์ฟาร์มรูปสัตว์ชนิดอื่น ๆ นอกจากแพนด้าก็เป็นได้
บทสรุป
ประเทศจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตและการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามเมืองต่าง ๆ เพื่อหวังลดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่ความพิเศษของโซลาร์ฟาร์มในเมืองต้าถง มณฑลซานซี คือ การจัดเรียงแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นรูปหมีแพนด้า โดยอาศัยเทคโนโลยีของการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ทำให้เกิดโทนสีเข้มสีอ่อนสลับกัน ซึ่งหากมองจากมุมสูงจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยโซลาร์ฟาร์มแห่งนี้คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 100 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ในการติดตั้งราว 250 เอเคอร์ แต่ในประเทศไทยเองก็รู้จักคำว่าโซลาร์ฟาร์มกันพอสมควร แต่ไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากการติดตั้งต้องใช้พื้นที่จำนวนมากนั้นเอง
อ้างอิง
ฐานเศรษฐกิจ. (2560). โซลาร์ฟาร์มน่ารักที่สุดในโลก. จาก https://www.thansettakij.com/content/tech/177811
Leanna Garfield. (2017). China just built a 250-acre solar farm shaped like a giant panda. Business Insider. From https://www.businessinsider.com/china-panda-solar-power-plant-2017-7?utm_content=buffer47a1a&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer-science
Chris Baraniuk. (2018). How China’s giant solar farms are transforming world energy. From https://www.bbc.com/future/article/20180822-why-china-is-transforming-the-worlds-solar-energy