ไฟต้นคริสต์มาสที่มาจากปลาไหลไฟฟ้า

1. PJContent01lgSB

ไฟต้นคริสต์มาสที่มาจากปลาไหลไฟฟ้า

สรุปประเด็นหลัก

  • สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้โดยธรรมชาติ
  • การนำไฟฟ้าจากสิ่งมีชีวิตมาประยุกต์ใช้กับเทศกาลคริสต์มาส

 

บทนำ

          ถ้าย้อนเวลากลับไป หากเราลองหลับตาและจินตนาการถึงบรรยากาศวันคริสต์มาสที่ผ่านมา หลายคนคงคิดถึงภาพของต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาไปด้วยไฟหลากสีสัน โดยเฉพาะในยามที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแสงไฟของต้นคริสต์มาสได้ทำหน้าที่ให้แสงสว่างแก่บริเวณข้างเคียงตลอดทั้งค่ำคืน โดยปกติแล้ว ไฟที่ใช้กับต้นคริสต์มาสมักมีที่มาจากไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนหรือพลังงานโซลาร์ แต่กับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ในรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ไฟต้นคริสต์มาสของที่นี่กลับมาจากเจ้าปลาไหลไฟฟ้าที่รู้จักกันในชื่อ ‘มิเกล วัตต์สัน’ (Miguel Wattson)

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้โดยธรรมชาติและวิธีนำไฟฟ้าจากปลาไหลไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ 

 

มิเกล…ผู้สร้างไฟฟ้าใต้ผืนน้ำ

          เมื่อปลาไหลมิเกลปล่อยกระแสไฟฟ้า บริเวณแท็งก์น้ำจะมีเซ็นเซอร์สำหรับตรวจจับกระแสไฟฟ้าโดยเซ็นเซอร์จะตรวจจับกระแสไฟฟ้าและแสดงเป็นแสงและเสียง กระแสไฟฟ้าที่มิเกลปล่อยออกมานั้นมีหลายระดับขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการปล่อย อาทิ ไฟที่กระพริบและหรี่ลงอย่างรวดเร็วเกิดจากการปล่อยกระแสไฟฟ้าในภาวะปกติ ไฟที่กระพริบเบา ๆ เกิดในช่วงที่มันกำลังหาอาหาร และไฟที่สว่างที่สุดเกิดขึ้นเมื่อมันกำลังกินเหยื่อหรือตื่นตกใจ สำหรับกระแสไฟฟ้าที่ปลาไหลมิเกลปล่อยออกมาเป็นผลมาจากการที่ร่างกายของปลาไหลไฟฟ้ามีเซลล์ที่เรียกว่า ‘Electrocytes’ ซึ่งมีคุณสมบัติปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงต่ำไปจนถึงสูง และปลาไหลมิเกลจะใช้กระแสไฟฟ้าดังกล่าวในการหาทิศทาง ล่าเหยื่อ และป้องกันตนเอง

          ไฟฟ้าที่ปลาไหลมิเกลผลิตออกมาไม่ได้ทำให้ไฟสว่างโดยตรง แต่ด้วยองค์ประกอบของตู้ปลาที่มีการปรับค่าให้สอดคล้องกับกระแสไฟฟ้าที่ปลาไหลไฟฟ้าผลิตออกมาจึงทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าออกมาได้ จากวิธีการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวที่จะนำไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่นมาใช้ร่วมกับแหล่งพลังงานที่มีอยู่ และหากได้รับการต่อยอด เราก็อาจจะได้เห็นมิเกลและปลาไหลไฟฟ้าตัวอื่น ๆ แสดงความสามารถเฉพาะตัวเช่นนี้อีกก็เป็นได้ และสำหรับผู้ที่อยากทำความรู้จักเจ้ามิเกลให้มากขึ้น สามารถกดติดตามได้ทางทวิตเตอร์ @ElectricMiguel

 

บทสรุป

          มิเกล วัตต์สัน คือ ปลาไหลไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไป ลักษณะเฉพาะของปลาไหลมิเกลคือการมีเซลล์ที่เรียกว่า Electrocytes ซึ่งสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงต่ำไปจนถึงสูง และด้วยความพิเศษของปลาไหลมิเกล เราจึงได้เห็นแสงไฟจากสิ่งมีชีวิตในช่วงเทศกาลแห่งความสุขของมนุษย์

 

อ้างอิง

Kristin Houser. (2019).  Watch an electric eel light up a Christmas tree. From https://futurism.com/the-byte/watch-electric-eel-light-christmas-tree

Eric Mark. (2019).  Meet ‘Miguel Wattson,’ An Electric Eel That Controls Christmas Lights. From https://www.forbes.com/sites/ericmack/2019/12/05/an-electric-eel-controls-christmas-lights-at-the-tennessee-aquarium/

Merrit Kennedy. (2019).  Noeel: Electric Eel Lights Up Christmas Tree In Tennessee. From https://www.npr.org/2019/12/04/784854604/noeel-electric-eel-lights-up-christmas-tree-in-tennessee

preload imagepreload image