กองทุนแสงอาทิตย์ โซลาร์ภาคประชาชน จุดเริ่มต้นปฏิรูปพลังงานเพื่อความเป็นธรรม

47. PJSolarFund

สรุปประเด็นหลัก

  • เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไปอย่างแพร่หลาย ภาคประชาชน
    ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินโครงการนำร่อง โดยติดโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง
  • โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ โครงการริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 33.75 กิโลวัตต์ สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลแก่งคอยได้ราวปีละ 217,000 บาท
  • กระทรวงมหาดไทยกำหนดกฎระเบียบในการติดตั้งหยุมหยิมเกินไป ทำให้กลายเป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับประชาชนในการดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

 

บทนำ

          การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นวาระการปฏิรูปพลังงานที่ภาคประชาชนผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม และเพื่อปลดแอกจากการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลที่เป็นกระแสหลักของโลก ซึ่งจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมของความพยายามผลักดันเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทางเครือข่ายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาคี ได้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนแสงอาทิตย์” หรือ “Thailand Solar Fund” 

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคประชาชนในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 

 

กองทุนแสงอาทิตย์

          กองทุนดังกล่าวเริ่มการรณรงค์ให้เกิดการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสาธารณะ รวมถึงชุมชนที่เข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ซึ่งโครงการนำร่องระยะแรกคือ การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล 7 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้แคมเปญ “พลังงานแสงอาทิตย์ คือพลังงานช่วยชีวิต” 

 

พลังงานแสงอาทิตย์ คือพลังงานช่วยชีวิต

          กองทุนแสงอาทิตย์ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายจากกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มพัฒนาเด็ก กลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เครือข่ายภาคประชาชนเหล่านี้ทำงานรณรงค์เพื่อผลักดันให้เกิดขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของพลังงานหมุนเวียน 

          สำหรับเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด, Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน (Lanta Goes Green), มูลนิธิสุขภาพไทย และ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          ความคิดริเริ่มโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับ 7 โรงพยาบาลนำร่อง เริ่มต้นที่โรงเรียนศรีแสงธรรมโดย “พระครูวิมลปัญญาคุณ” ได้เริ่มการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักโซลาร์เซลล์ และติดตั้งเพื่อใช้เองในวัดในโรงเรียนศรีแสงธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็นศูนย์อบรมโซลาร์เซลล์ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ที่ผ่านมามีการเปิดอบรมมากกว่า 30 รุ่น ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงาน และผู้ที่สนใจทั่วใจนำไปต่อยอดใช้งานให้เกิดประโยชน์ ทางโรงเรียนยังได้ออกไปบริการสังคม ช่วยเหลือตามวัดต่าง ๆ หรือชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งในเมืองและตามชนบท รวมไปถึงช่วยเหลือในงานภัยพิบัติต่าง ๆ 

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2560 นพ.เศวต ศรีศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ได้พานักศึกษาแพทย์มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนศรีแสงธรรม เพราะมีแนวคิดอยากจะใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป็นตัวอย่างของโรงพยาบาลในการประหยัดค่าไฟฟ้า หลังจากนั้นจึงมีการระดมทุนบริจาค โดยพระครูวิมลปัญญาคุณได้รวบรวมเงินบริจาค และสามารถติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 30.72 กิโลวัตต์ บนหลังคาโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวิชราลงกรณ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าไปเดือนละ 18,000 บาท จากนั้นขยายการติดตั้งจนสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 5,000,000 บาท 

          จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการขยายแนวคิดไปสู่การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลแห่งอื่น ๆ และมีการจัดตั้ง “กองทุนแสงอาทิตย์” ที่มีภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรม โดยการเปิดรับเงินบริจาคเมื่อครบจำนวนตามเป้าหมายแล้วก็เปิดเสนอราคาจากบริษัทเอกชนเพื่อไปติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาล

          สำหรับเป้าหมายของกองทุนแสงอาทิตย์คือ การปฏิรูประบบพลังงานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้เกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา รวมถึงก่อให้เกิดนโยบายและมาตรการสนับสนุนระบบ Net metering รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งในเบื้องต้น กองทุนแสงอาทิตย์ ได้กำหนดค่าติดตั้งและอุปกรณ์ไว้ไม่เกินวัตต์ละ 35 บาท ทำให้ต้องใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์ปิดรับบริจาคในเฟสที่ 1 โดยในส่วนของบริษัทมาดำเนินการติดตั้งใช้วิธีประกวดราคา ภายใต้งบประมาณและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลง 

          พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 30 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาล แม้จะไม่ใช่ขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละกว่า 2 แสนบาท หากสามารถติดตั้งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ประมาณ 1,000เมกะวัตต์ จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละกว่า 600 ล้านบาท หรือ 7,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจำนวนเงินที่โรงพยาบาลประหยัดได้นี้จะสามารถนำไปช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งประเทศ และยังลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย

          การจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ จึงเป็นเหมือนการทำงานเชิงแนวคิด เป็นการขยับเพื่อให้เกิดแรงสะสมและสั่นสะเทือนเหมือน “ผีเสื้อขยับปีก” สร้างจิตสำนึกการเรียนรู้ของสังคมไทยว่า ประชาชนคนไทยสามารถพึ่งตัวเองได้ การที่ประชาชนรวมตัวกันบริจาคเพื่อไปให้กับโรงพยาบาล จะทำให้ได้แนวความคิดขยายต่อไปได้ว่า ควรจะทำอะไรต่อกับเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว 

          กองทุนแสงอาทิตย์ เลือกติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละหลายแสน บางแห่งก็นับล้านต่อเดือน ทั้งที่หลังคาโรงพยาบาลก็ว่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากหลังคานี้ไม่ใช่ได้แค่ลดค่าไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ได้การสร้างจิตสำนึกของคน ของพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ที่โรงพยาบาลผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองได้

 

เฟสแรก ติดตั้งโซลาร์เซลล์ 7 โรงพยาบาลนำร่อง 

          การจัดตั้งและดำเนินงานของกองทุนแสงอาทิตย์ ที่ประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลาย และเลือกโครงการนำร่องด้วยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็กไม่กี่สิบเตียงและขนาดใหญ่หลายร้อยเตียง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดแรงผลักให้เห็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริง และทำให้เห็นชัดเจนว่า พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยชีวิตคนเจ็บไข้ได้ป่วยจริงจากจำนวนเงินที่โรงพยาบาลจ่ายค่าพลังงานลดน้อยลง

          กองทุนแสงอาทิตย์ดังกล่าว ดำเนินการในเฟสแรกด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง โดยโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ ได้รับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์และเปิดใช้งานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ใช้พื้นที่ประมาณ 240 ตารางเมตรของหลังคาอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีกำลังผลิตติดตั้ง 33.75 กิโลวัตต์ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลแก่งคอยได้ราวปีละ 217,000 บาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4 ปี รวมเป็นเงินค่าไฟฟ้าที่จะประหยัดได้ราว 5,425,000 บาท ตลอดระยะเวลา 25 ปี ในอนาคตโรงพยาบาลจะหางบประมาณเพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมให้ได้ถึง 100 กิโลวัตต์เป็นอย่างน้อย 

          ในปลายปี พ.ศ. 2562 ถึงต้นปี พ.ศ. 2563 นี้ กองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ได้ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลขนาดหลายร้อยเตียงด้วยเช่นโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ขนาด 350 เตียง ซึ่งมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 1,200,000 บาทต่อปี โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กองทุนแสงอาทิตย์ได้ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลชุมแพนั้น มีขนาดการผลิตไฟฟ้า 35.10 กิโลวัตต์ ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดโมโน (Mono) ขนาด 390 วัตต์ จำนวน 90 แผง ภายใต้งบดำเนินการ 825,000 บาท จากการคำนวณคาดว่า จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 4.12 ปีเท่านั้น

          โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนคือ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ขนาด 755 เตียง แต่ในความเป็นจริงต้องดูแลคนไข้มากถึง 900 เตียง มีอาคารรักษาพยาบาลทั้งหมด 43 หลัง ให้บริการผู้ป่วยนอก 1,903 รายต่อวัน ผู้ป่วยในนอนเฉลี่ย 671 รายต่อวัน และเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการดูแลทั้งประชาชนชาวไทยและจากประเทศกัมพูชา จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าสูงถึงปีละ 38 ล้านบาทเศษ หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.2 ล้านบาท และโรงพยาบาลพระปกเกล้าจะเปิดให้บริการอาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง เป็นอาคาร 10 ชั้น คาดว่าจะมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี

          สำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอายุรศาสตร์ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ โดยใช้แผงโซลาร์ชนิดโมโน ขนาด 405 วัตต์ จำนวน 90 แผง พร้อมอินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงตามที่กองทุนแสงอาทิตย์กำหนด ได้กำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 36.45 กิโลวัตต์ใช้งบประมาณตามสัญญาว่าจ้างทั้งสิ้น 1,050,000 บาท หรือเฉลี่ยวัตต์ละ 28.8 บาท ซึ่งจะช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และยาวนานถึง 25 ปี 

 

เรียนรู้อุปสรรคปัญหา เดินหน้าผลักดันเชิงนโยบาย

          อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า กองทุนแสงอาทิตย์ มุ่งหวังว่าจะทำให้เกิดแนวคิดการพึ่งพาตนเองได้ด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชน และการทำโครงการนี้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในหลายประเด็น เช่น ช่วงแรกที่ตั้งกองทุนแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงพยาบาล มีการคิดคำนวณต้นทุนในการติดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกอยู่ที่ 35,000 บาทต่อกิโลวัตต์ แต่พอถึงโรงพยาบาลสุดท้ายแห่งที่ 7 ในเวลาไม่ถึงปี ต้นทุนลดลงเหลือเพียง 28,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ทำให้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิดโมโน ขนาดติดตั้งที่กำหนดไว้ที่ 330 วัตต์ จำนวน 90 แผงต่อโรงพยาบาล สามารถเพิ่มขึ้นเป็นขนาด 400 วัตต์ในพื้นที่ขนาดเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นขณะที่ต้นทุนเท่าเดิมหรือถูกลง การลงมือทำจริง ยังทำให้ได้รับทราบต้นทุนการติดตั้งเมื่อเปรียบเทียบกับภาครัฐ ที่มีราคาติดตั้งอยู่ที่ 40,000 – 45,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด 

          นอกจากนั้น ยังทำให้เห็นปัญหาในเชิงเทคนิค การขออนุญาตติดตั้งที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ยกเว้นการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร ซึ่งถือเป็นเรื่องดีแต่ปัญหาสำคัญมาอยู่ตรงที่มีข้อความต่อท้ายซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญว่า ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่ทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา จากนั้นให้แจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่นให้ทราบก่อนดำเนินการ ความจริงแล้วเมื่อไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร ข้อกฎหมายนี้จึงอยู่ในระดับเพียงการแจ้งให้ทางเทศบาลท้องถิ่นทราบ แต่ในเมื่อมีการพ่วงเงื่อนไขให้วิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาและสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ยื่นติดตั้ง ด้วยว่าตามกฎหมายวิศวกรโยธา ระดับวิศวกรที่จะสามารถทำการลงนามรับรองแบบตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงได้ ต้องเป็นวิศวกรระดับวุฒิเท่านั้น 

          ปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หาทางบรรเทาภาระให้ผู้แจ้งติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โดยได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 และมีมติปรับลดรายการเอกสารประกอบการแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยไม่ต้องแนบแสดงเอกสารการรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคารตามกฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยออก โดยเอกสารที่แสดงต่อ กกพ. ให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชนกับรูปถ่ายสถานที่ติดตั้งเท่านั้น และให้แจ้งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้ อย่างไรก็ตาม เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมอาคาร กกพ. ก็ยังต้องให้ผู้แจ้งลงข้อมูลในแบบรับรองตนเองว่า ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้มาแจ้งกับ กกพ. ซึ่งก็เท่ากับว่า ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด เพราะประชาชนยังต้องดำเนินการตามกฎหมายคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 65 ที่พลเอกอนุพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเหมือนเดิม หากไม่ได้ดำเนินการมาก่อน แล้วมาแจ้งรับรองยืนยันตัวเองบนเว็บไซต์ของ กกพ. ว่าได้ทำแล้ว อาจถือว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อทางราชการทันที และอาจมีความผิดทางอาญาฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้ 

          สำหรับโครงการระยะต่อไปของกองทุนแสงอาทิตย์ จะขยายไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับสถาบันอาชีวศึกษา 7 แห่ง คล้ายกับโมเดลของโรงพยาบาล โดยต้องการให้เป็น “ต้นแบบ” เปิดมิติใหม่ให้กับนักศึกษาช่างเทคนิคที่อยากจะประกอบอาชีพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายโอกาส โดยจะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการติดตั้ง ซ่อมบำรุง เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี และยังต่อยอดไปถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนาเป็นงานต่อเนื่อง 

          การจัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ของเครือข่ายภาคประชาชน ที่ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล และสถานศึกษา ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ยังมุ่งหวังจะทำให้เกิดแรงผลักจากผู้ใช้คือ โรงพยาบาล มายังกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นในนโยบาย
การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งมาตรการรัฐที่ไม่จูงใจ 

ลำดับ โรงพยาบาล ขนาด (เตียง) เวลาติดตั้ง กำลังการผลิต (kW)
1 โรงพยาบาลแก่งคอย สระบุรี 60 3 เมษายน 2562 33.75
2 โรงพยาบาลหลังสวน ชุมพร 120 8 สิงหาคม 2562 36.48
3 โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม อุบลฯ 60 18 ตุลาคม 2562 34.20
4 โรงพยาบาลภูสิงห์ ศรีสะเกษ 30 19 ตุลาคม 2562 35.10
5 โรงพยาบาลชุมแพ ขอนแก่น 350 22 ตุลาคม 2562 35.10
6 โรงพยาบาลท่าสองยาง ตาก 60 15 ธันวาคม 2562 35.10
7 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี 755 28 มกราคม 2563 36.45

 

ตารางที่ 1: โรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนในการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ที่มา: https://thailandsolarfund.org/progress

 

บทสรุป

          ภาคประชาชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเริ่มจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลเป็นโครงการนำร่อง แล้วจึงจะขยายผลไปยังภาคส่วนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของภาคประชาชนกลับเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบอันยุ่งยากของภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยภาคประชาชนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

อ้างอิง

Greenpeace Thailand. (2563).  กองทุนแสงอาทิตย์ยอดบริจาคทะลุเป้าสู่โรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/press/10971/climate-phra-phok-klao-solar-hospital/ 

Green News. (2561).  ภาคประชาชนรวมตัวจัดตั้ง ‘กองทุนแสงอาทิตย์’ เปิดรับบริจาค-ติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ หลังคารพ. จาก https://greennews.agency/?p=18238 

นิตยสารฉลาดซื้อออนไลน์ ฉบับที่ 214. (ม.ป.ป.).  พระอาทิตย์เป็นของเรา “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อคุณภาพชีวิตทุกคน. จาก https://chaladsue.com/article/3002 

RYT 9. (2562).  เปิดตัว “โรงพยาบาลแก่งคอย” หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกจากการบริจาคของประชาชน. จาก https://www.ryt9.com/s/prg/2977783 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (2562).  ชาวชุมพรขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางพลังงาน ร่วมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงพยาบาลหลังสวน. จาก https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-network/4371-620908thsolarfund2nd.html 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (2562).  “กองทุนแสงอาทิตย์” ส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์แก่ รพ.แสงอาทิตย์ ‘ทุ่งศรีอุดม’. จาก https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-network/4393-621018_solarfund.html 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (2562).  “กองทุนแสงอาทิตย์” ส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์แก่ ‘รพ.ท่าสองยาง’ รพ.แสงอาทิตย์แห่งที่ 6 จากเงินบริจาคของประชาชน. จาก https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-network/4416-621219_solar-fund.html 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (2562).  “กองทุนแสงอาทิตย์” เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ.แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน. จาก https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-network/4394-621019_th-solar-fund.html 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. (2562).  “กองทุนแสงอาทิตย์” เปิดตัว ‘โรงพยาบาลชุมแพ’ รพ.แสงอาทิตย์แห่งที่ 5 จากเงินบริจาคของประชาชน. จาก https://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-network/4398-621022solarcell.html 

สัมภาษณ์ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

preload imagepreload image