การพัฒนาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังขาดแคลนงานวิจัยพื้นฐาน

50. PJSolarRersearch

สรุปประเด็นหลัก

  • ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านพลังงานอย่างมาก โดยการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติเพื่อทำการศึกษาวิจัย
  • มีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการจำนวนมากที่ทำการศึกษาวิจัยการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่มุ่งไปในเชิงประยุกต์เพื่อการใช้งานและการพาณิชย์
  • ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในการวิจัยพื้นฐานเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสร้างองค์ความรู้ระดับชาติ เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และระดับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์

 

บทนำ

          ในขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้าจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center – ENTEC) เพื่อสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ แต่ดูเหมือนว่า อัตราเร่งในการวิจัยและพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะอยู่ในอัตราถดถอย เฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยพื้นฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดนั้นจะมีอยู่น้อยนิด

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย

 

การวิจัยและพัฒนา: ความหวังของพลังงานแสงอาทิตย์ไทย

          คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาทางด้านพลังงานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การปฏิบัติ พร้อมเกิดฐานองค์ความรู้ที่บูรณาการร่วมกันมากขึ้น

          หนึ่งในนั้นที่อยู่ในการกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการบูรณาการเข้าไปอยู่ในศูนย์ดังกล่าวคือ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเบื้องต้นจะได้มีการโอนย้ายหน่วยวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งปัจจุบันสังกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronic and Computer Technology Center – Nectec) เข้าไปสังกัดศูนย์แห่งใหม่ นั่นหมายความว่า การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะได้รับความสำคัญไม่น้อย

          จากรายงานสถานะล่าสุดของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์พบว่า ในปี พ.ศ. 2561 มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษา 29 แห่งในประเทศไทย ที่ได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนา และสาธิต การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงการวิจัยอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่ม กล่าวคือ 1. การประดิษฐ์เซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง(15 โครงการ) 2. การผลิตและประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในระบบ (8 โครงการ) 3. การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (16 โครงการ) 4. การวิจัยเพื่อนโยบายและมาตรการส่งเสริม และกำหนดคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (5 โครงการ) 5. การเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้า (4 โครงการ) และ 6. การวิจัยบูรณาการ (8 โครงการ) ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รองลงมาเป็นการประดิษฐ์เซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง 

          ดร.กอบศักดิ์ ศรีประภา นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัด สวทช. กล่าวว่าในทั้งหมด 6 กลุ่มนั้น ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นการวิจัยประยุกต์ มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยทางด้านนี้ทั้งหมดในประเทศไทยที่เป็น การวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ 

          งานวิจัยพื้นฐาน (Basic research) ในระบบพลังงานแสงอาทิตย์คือ การวิจัยเพื่อพัฒนาตัวเซลล์และวัสดุที่ใช้ในการผลิตเซลล์ที่เป็นตัวกำหนดพลังงานไฟฟ้า “การวิจัยในกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแหล่งทุนมากนัก เพราะว่าผลผลิตที่ได้อย่างมากก็แค่รายงานการวิจัย (Paper) สักชิ้นหนึ่ง และอาจจะถึงขั้นจดสิทธิบัตรได้ แต่ก็ยังเอามาใช้งานจริง ๆ ไม่ได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว “โจทย์วิจัยพื้นฐานเหล่านี้ก็จะพูดแค่ว่า ทำอย่างไรให้เซลล์เล็ก ๆ ในแผงนี้ ทำงานได้ดีกว่าเดิม แปลงแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าเดิม ต้นทุนต่ำลง อายุการใช้งานนานขึ้น ใช้วัสดุอะไรทดแทนกันได้บ้าง”

          ประการสำคัญคือ การวิจัยพื้นฐานของไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์รายใหญ่ของโลกในปัจจุบันนี้คือ จีน ซึ่งได้พัฒนาการวิจัยพื้นฐานอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบกับจีนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมซิลิคอน ซึ่งเป็นวัสดุหลักของแผงโซลาร์เซลล์ในกลุ่ม Silicon-base อยู่แล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เกือบ 2 ใน 3 ต้องพึ่งพิงจีนเป็นหลัก 67 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต Polysilicon ของโลกมาจากจีน และ 9 ใน 10 ของผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์คือ บริษัทจีน 

          ในประเทศไทยมีผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ 2 กลุ่มใหญ่ คือ นักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน แต่ทั้งสองกลุ่มนั้นทำเหมือนกันคือ การประกอบแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งไม่ต้องการการวิจัยหรือพัฒนาอะไรแล้ว เพราะตัวเซลล์ส่วนใหญ่ วิจัย พัฒนา และผลิตในต่างประเทศเป็นหลัก นักลงทุนจึงทำเพียงลงทุนตั้งโรงงานประกอบโดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น 

          ปัจจุบันหน่วยงานหลักที่ทำการวิจัยและพัฒนา Cell application ซึ่งเป็นการวิจัยพื้นฐานทั้งในกลุ่ม Silicon base และ Non-silicon base คือ สวทช. ในอดีตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยทำการวิจัยส่วนนี้อยู่บ้าง แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะยุติโครงการไปแล้ว “สวทช. ก็ใช้ทุนภายในของตัวเองเป็นหลัก โอกาสที่จะได้แหล่งทุนจากภายนอกในการวิจัยและพัฒนาโซลาร์เซลล์แทบจะไม่มี” ดร.กอบศักดิ์กล่าว “ที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้นี่เรียกว่า ทำแบบประคองตัวพอให้อยู่ได้ เพื่อให้มีความรู้เท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานเท่าไร เพราะเครื่องมือ เครื่องจักร และวัสดุที่ใช้ในการวิจัยและทดลองมีราคาแพงมาก ของที่เรามีอยู่ก็เริ่มจะล้าสมัยแล้ว”

          แม้ว่าจะมีงบประมาณน้อย แต่ สวทช. กำลังสนใจวิจัยพื้นฐานในส่วนของ Non-silicon base คือ Perovskite “ตัวนี้มาใหม่ ประสิทธิภาพน่าสนใจ ตอนนี้ทั่วโลกก็เริ่มให้ความสนใจมาก ระดับของการวิจัยอยู่ที่
การพัฒนาประสิทธิภาพและอายุการใช้งานให้ได้นานมากขึ้น แต่ตอนนี้พูดได้ว่า ยังไม่ถึงขั้นที่จะเอามาใช้งานได้จริง” ดร.กอบศักดิ์กล่าวและว่า ปัจจุบันแหล่งทุนต่างประเทศกำลังให้ความสนใจวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ชนิดนี้อยู่ โดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

เน้นการวิจัยเชิงประยุกต์

          งานวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการวิจัยประยุกต์ เพื่อนำมาใช้งานและสร้างผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ แหล่งทุนทางการวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วสนใจตัวผลิตภัณฑ์ที่เอาไปใช้งานได้จริง เอาไปผลิตเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้ เช่น ปัจจุบันกำลังมีทุนวิจัยที่มุ่งไปในเชิงการพัฒนาระบบการใช้งาน ดูประสิทธิภาพ Inverter หรือการนำมาผสมผสานกับแบตเตอรี่ การประเมินประสิทธิภาพ ความทนทาน พัฒนาอุปกรณ์ในระบบ หรือทำ Micro grid, Smart grid ปัจจุบันแหล่งทุน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน และบริษัทเอกชนต่าง ๆ กำลังให้ความสนใจที่จะมุ่งพัฒนางานวิจัยเชิงประยุกต์ เพราะสามารถได้ผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ อีกประการหนึ่ง นักวิจัยไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพียงพอที่จะทำการวิจัยในเชิงประยุกต์ หรือพัฒนาระบบต่าง ๆ ผสมผสานกันได้ 

          ดร.กอบศักดิ์ เปรียบเทียบว่า การวิจัยในเชิงพื้นฐาน เช่น การพัฒนาโซลาร์เซลล์ ที่ต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท อาจจะได้รายงานที่ค้นพบว่า เซลล์ตัวเล็ก ๆ ที่มีประสิทธิภาพดี อายุการใช้งานยาวนานมากขึ้นสักชุดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังจะต้องลงทุนอีกมากเพื่อนำแนวคิดนั้นไปทำการผลิต แต่ในทำนองเดียวกัน ถ้าใช้งบประมาณระดับเดียวกัน วิจัยและพัฒนาระบบสายส่งขนาดเล็ก (Micro grid) อาจจะสามารถทำได้หลายพื้นที่ สนองความต้องการในการใช้ไฟฟ้าให้กับชุมชนได้ 2 – 3 แห่ง ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่แหล่งทุนจะเลือกอย่างหลัง เพราะมีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม 

          แนวโน้มของการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยประยุกต์ เช่น การสร้างระบบ Micro grid เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในชุมชนหรือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า ลดภาระระบบใหญ่ระดับชาติหรือระดับภูมิภาค เพราะถึงอย่างไรเสียพลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่ยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติคือแสงแดดซึ่งความผันผวนไม่น้อย อีกทั้งระบบจัดเก็บ (Storage) ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จนกว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ให้ดีกว่านี้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยครึ่งทศวรรษนับจากนี้ การจะทุ่มเทให้กับการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างรากฐานให้พลังงานชนิดนี้กลายเป็นพลังงานหลักคงจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ

          โดยสรุปแล้ว แม้ว่าแหล่งทุนในการวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประโยชน์ของการใช้งานและการพาณิชย์มากกว่า และประเทศไทยอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่ทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างครบวงจรเหมือนเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือจีน ซึ่งมีทรัพยากรเพียงพอ แต่ความจำเป็นการในทำการวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์อันเป็นต้นทางของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับนักวิจัยไทยได้เท่าทันกับสถานการณ์และระดับการพัฒนา 

          “อย่างน้อยที่สุดก็ให้มั่นใจว่าเวลาซื้ออะไรมา ก็จะได้ไม่ถูกหลอก เราต้องมีความรู้เพียงพอที่จะรู้ว่า เซลล์แสงอาทิตย์แบบไหนเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร วัสดุชนิดใดดีหรือไม่ดีอย่างไร Silicon-base กับ Porovstkite ข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร พัฒนาการของโลกในด้านต่าง ๆ ไปถึงไหนกันแล้ว” ดร.กอบศักดิ์กล่าวล

ตารางที่ 1: หน่วยงานวิจัยและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พ.ศ. 2559 – 2561
ที่มา: รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561

 

กลุ่มงานวิจัย ชื่อโครงการ หน่วยงาน
การประดิษฐ์เซลล์แสงอาทิตย์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง – ชุดโครงการ “พัฒนาต้นแบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบ perovskite บนวัสดุรองรับที่โค้งงอได้” 

– โครงการย่อย 1 ศึกษาความสามารถในการซึมผ่านของน้ำในโพลิเมอร์ชนิดต่าง ๆ เพื่อหา
โพลิเมอร์ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในต้นแบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบ perovskite บนวัสดุรองรับที่โค้งงอได้

– โครงการย่อย 2 การพัฒนาชั้นนำไฟฟ้าโปร่งแสงบนฐานรองโค้งงอได้เพื่อประยุกต์ใช้กับเซลล์แสงอาทิตย์แบบ perovskite

– โครงการย่อย 3 การขึ้นรูปต้นแบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบ perovskite ด้วยกระบวนการทางสารละลาย

– มหาวิทยาลัยศิลปากร

– NECTEC

– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

การผลิตและประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในระบบ ต้นแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อชุมชนในพื้นที่ห่างไกล NECTEC
การศึกษาศักยภาพผลการผลิตไฟฟ้าและพัฒนาต้นแบบเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดรวมแสงในประเทศไทย – NECTEC

– ศูนย์บริการปรึกษาออกแบบและวิศวกรรม, สวทช.

การศึกษา ออกแบบ และติดตั้งระบบติดตามและตรวจสอบการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับชุมชนต้นแบบ Chiang Mai World Green City NECTEC
การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาแบบจำลองสำหรับพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในเขตร้อนชื้น – NECTEC

– ศูนย์บริการปรึกษาออกแบบและวิศวกรรม, สวทช.

การศึกษาออกแบบ และติดตั้งสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสำหรับสถานีฐานสื่อสาร เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าสำหรับชุดสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล – NECTEC
การศึกษา ออกแบบ และประเมินศักยภาพ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์
ในแนวตั้งสำหรับสถานีฐานสื่อสาร
– NECTEC
การประเมินและเปรียบเทียบผล
การเคลือบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยน้ำยาป้องกันฝุ่น
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

– NECTEC

การศึกษาติดตาม ผลกระทบของฝุ่นต่อสมรรถนะระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

– มหาวิทยาลัยนเรศวร

การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางของระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประเมินผลสมรรถนะการทำงานในระยะยาว
การเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้า การศึกษาและออกแบบระบบแบตเตอรี่สำหรับการันตีกำลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (ระยะที่ 1) – NECTEC 

– ศูนย์บริการปรึกษาออกแบบและวิศวกรรม, สวทช.

ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง
20C Discharge C-Rate & Pole Solid State Battery
การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยระบบแบตเตอรี่ในระดับครัวเรือนในประเทศไทย – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
การพัฒนาสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย

 

ตารางที่ 2: งานวิจัย พัฒนา และสาธิตเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ พ.ศ. 2561 – 2562
ที่มา: รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561

 

หน่วยงาน สังกัด/ประเภท จุดเน้น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิจัยพื้นฐาน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิจัยพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วิจัยพื้นฐาน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน วิจัยเชิงประยุกต์ 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจ วิจัยเชิงประยุกต์ 
บริษัทเอกชน เช่น เครือซิเมนต์ไทย ธุรกิจแสวงหากำไร วิจัยเชิงประยุกต์

 

 

 

ตารางที่ 3: หน่วยงานในประเทศไทยที่ให้ทุนศึกษาวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

 

บทสรุป

          ภาครัฐได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาทางด้านพลังงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวิจัยส่วนใหญ่ของประเทศจะเน้นไปที่การประยุกต์เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานได้จริงและนำไปผลิตเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้มากกว่า แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีทรัพยากรเพียงพอ และสามารถทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างครบวงจร 

 

อ้างอิง

Financial Times. (2020).  Polysilicon price soars after blasts at key Chinese plant. From https://www.ft.com/content/b3e3f134-2295-46a6-98df-3ef5994539e1 

กระทรวงพลังงาน. (ม.ป.ป.).  รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2560. จาก http://webkc.dede.go.th/testmax/node/4537

กระทรวงพลังงาน. (ม.ป.ป.).  รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย 2561. จาก https://pvgis.kmutt.ac.th/pvstatus2018/downloads/PV_status_report_2561.pdf

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2563).  สวทช. พร้อมเดินหน้าจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) หลัง ครม. อนุมัติ เพื่อมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ. จาก https://www.nstda.or.th/th/news/13328-20200618-entec 

สัมภาษณ์ ดร.กอบศักดิ์ ศรีประภา 3 กันยายน พ.ศ. 2563 

 

preload imagepreload image