ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทยเติบโตในอาเซียน

41. PJEnergySunnySB

สรุปประเด็นหลัก

  • หลังจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายแรกของไทยที่ขายไฟฟ้าจากพลังงานอาทิตย์เข้าสู่ระบบ คือ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ส่งไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ได้เกิดความตื่นตัวในภาคธุรกิจนี้อย่างมาก
  • ประเทศไทยขาดความชัดเจนในเชิงการส่งเสริม การให้แรงจูงใจ และการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
  • บริษัทผู้ผลิตของไทยหลายรายที่มีศักยภาพ เริ่มมองหาโอกาสทางด้านการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน เช่น เวียดนาม 

 

บทนำ

          จากกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังผลิตมากกว่า 10 – 90 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากมีความผันผวนในเชิงนโยบายภายในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตของไทยส่วนหนึ่งมองหาโอกาสและลู่ทางในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทย

 

นโยบายภาครัฐและผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทย

          ผู้ผลิตไฟฟ้ารายแรกของไทยที่ขายไฟฟ้าจากพลังงานอาทิตย์เข้าสู่ระบบ คือ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ส่งไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2554 ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 บริษัท บางจากโซลาร์เอนเนอร์ยี่ จำกัด ขายไฟฟ้าเข้าระบบ และ บริษัท อีเอโซลาร์นครสวรรค์ จำกัด ขายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ในช่วง พ.ศ. 2558 – 2559 บริษัทที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ได้แก่ บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัดบริษัท อีเอ โซลาร์ ลำปาง จำกัด บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด และ บริษัท อีเอ โซลาร์ พิษณุโลก จำกัด หลังจากนั้นก็มีบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นหลายบริษัท และบริษัทที่ทำธุรกิจต่อเนื่องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอีกหลายร้อยบริษัท บางบริษัทเติบโต มีมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทและทยอยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ที่มีพื้นฐานการลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้วและมีการต่อยอดธุรกิจมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น บริษัทในเครือปตท. บริษัทในเครือบางจาก เป็นต้น

          แต่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศหยุดรับคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและพลังงานลม เนื่องจากขาดความชัดเจนในนโยบายของรัฐและระเบียบการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิต SPP จำนวน 588.47 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับขนาดตั้งแต่ 1 แต่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ หรือ VSPP ในปี พ.ศ. 2561 ผลิตได้ทั้งสิ้น 2,074.65
เมกะวัตต์  

          จากแผน PDP 2018 มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 MW ในอีก18 ปี ข้างหน้า ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW พบว่า มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 MW (ข้อมูลเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561) ประกอบด้วย Solar farm, Solar PV rooftop และโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยโซลาร์ภาคประชาชนมีแผนในการรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่ในปี พ.ศ. 2562 กลับมีผู้สนใจทำการผลิตเพียง 3 เมกะวัตต์ เท่านั้น

          หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีนโยบายงดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นไฟฟ้าจากขยะ และไฟฟ้าที่ขายส่งในราคาไม่เกินหน่วยละ 2.44 บาท และยกเลิกการรับประกันราคารับซื้อไฟฟ้า ทำให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ ๆ จำเป็นต้องปรับตัวด้วยการมองหาตลาดในต่างประเทศ และบางบริษัทก็รับงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟท็อป ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนรายใหญ่ ๆ

 

ใครเป็นใครในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

          EA Energy Absolute หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และจ่ายไฟเข้าระบบเมื่อปี พ.ศ. 2556 และเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในไทยด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยมีกำลังผลิตถึง 664 เมกะวัตต์ มีธุรกิจไบโอดีเซล และธุรกิจโรงไฟฟ้าสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 4 แห่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 278 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และชัยภูมิ อีกทั้งได้มีการขยายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม ในโครงการโซลาร์ไฮบริดกำลังผลิตรวมที่ 40 เมกะวัตต์

          บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของประเทศที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวมากับธุรกิจไบโอดีเซล และขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือกในรูปแบบอื่น ๆ จนเข้าสู่การเบนเข็มครั้งสำคัญของธุรกิจนั่นคือ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 กว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุดบริษัทรายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/63 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563) มีรายได้รวม 4,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54 เปอร์เซ็นต์จากงวดเดียวกันเมื่อปีก่อน ที่มีรายได้ 3,080 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากงวดเดียวกันเมื่อปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านบาท 

          BCPG ถือเป็นผู้บุกเบิกโซลาร์ฟาร์ม รายแรก ๆ ในเมืองไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ในฐานะที่เป็นหน่วยธุรกิจ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น และได้ก่อตั้งเป็นบริษัท เมื่อปี พ.ศ. 2558 มีกำลังผลิตรวม 192 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 9 จังหวัดของประเทศไทย ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา และ BCPG ยังเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศจนเติบโตก้าวกระโดด กลายมาเป็น “ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในเอเชีย”

          BCPG ลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2559 และล่าสุดกับการทุ่มเงินลงทุนกว่า 357.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,341 ล้านบาท) เข้าซื้อหุ้น 33.33 เปอร์เซ็นต์ จากสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้ง ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) ที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย จนทำให้ BCPG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับพลังงานแสงอาทิตย์รวมเกือบ 1,000 เมกะวัตต์ BCPG เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

          บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์รายแรกของประเทศไทยซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2553 โดยปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยทั้งหมด36 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด รวมกำลังผลิต 260 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 ที่โครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 1) และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าครบทั้ง 36 โครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2557 ผลประกอบการสิ้นปี พ.ศ. 2562 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 5,246.5ล้านบาท ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 681.7 ล้านบาท มีกำไร 3,011.3 ล้านบาท ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ จาก Solar Farm สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 78.7 เปอร์เซ็นต์ และ Solar Roof 15.8 เปอร์เซ็นต์

          เช่นเดียวกับบริษัทผลิตไฟฟ้าอื่น ๆ เอสพีซีจีขยับไปลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นในโครงการ “Ukujima Mega Solar Project” ขนาดกำลังผลิต 469 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566 และขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการลงทุนด้านธุรกิจโซลาร์รูฟในประเทศไทยด้วย 

          บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 มีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศจำนวน 1,005.32 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศจำนวน 768.60 เมกะวัตต์ และในต่างประเทศ 236.72 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีกำลังการผลิตรวมที่ 572.80เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 422เมกะวัตต์ ในทะเล 2 โครงการ รวม 172 เมกะวัตต์ และบนบกอีก 2 โครงการ รวม 250 เมกะวัตต์ ซึ่งในปัจจุบันโครงการในทะเลได้เริ่มทยอยการก่อสร้างบางส่วน และจะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบพาณิชย์ประมาณช่วงไตรมาส 4 ของปี พ.ศ. 2564 ภาพรวมผลการดำเนินงานปี พ.ศ. 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,245.58 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,137.11 ล้านบาท 

          บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง ปัจจุบันครอบครองสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 638 เมกะวัตต์ และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้ว 437 เมกะวัตต์ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามอีก 2 โครงการ รวม 60 เมกะวัตต์ ที่ทางบริษัทได้ซื้อกิจการมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มีการเริ่มดำเนินงานแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562

          ก่อนหน้านี้ นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลกำหนดนโยบายการงดซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีแผนขยายการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐชัดเจน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 200 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศมาเลเซีย ขนาด 30 เมกะวัตต์ โครงการประเภทเชื้อเพลิงแก๊สที่ประเทศเมียนมา ขนาด 25 เมกะวัตต์

          นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มเติมทั้งที่ประเทศมาเลเซีย เมียนมา  และเวียดนาม เนื่องจากเชื่อว่า ความต้องการและนโยบายภาครัฐของประเทศดังกล่าว ยังคงให้การสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน อันเนื่องจากต้นทุนที่ถูกลงและมีความจำเป็นในการต้องขยายสัดส่วนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงาน

          ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนประเภทติดตั้งบนหลังคาและแบบติดตั้งบนภาคพื้นดิน (Solar Ground) ภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านภาคประกอบการและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการลงทุนติดตั้งโรงไฟฟ้าบนหลังคาให้กับภาคเอกชนแบบโดยให้ส่วนลดและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบระยะยาว (Private PPA) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวสำหรับ Solar Rooftop ภาคเอกชนในปีนี้ประมาณ 50 – 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทกันกุล มีรายได้ในไตรมาส 1/2563 1,774 ล้านบาท กำไร 439 ล้านบาท

          บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า ในกลุ่ม ปตท. ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ 4,986 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนพลังน้ำ โดยในปี พ.ศ. 2562 – 2566 บริษัทตั้งเป้าจะผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 5,400 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจะมาจากพลังงานทดแทนและฟอสซิล ทั้งนี้ โกลบอล เพาเวอร์ ได้ขยายธุรกิจมายังพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี พ.ศ. 2559  บริษัทได้ลงทุนในประเทศญี่ปุ่น สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิซิโนเซกิ โซลาร์ พาเวอร์ ขนาดกำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ และในปี พ.ศ. 2563 บริษัทยังหาโอกาสลงทุนในโครงการไฟฟ้าใหม่ ๆ ในประเทศอาเซียน ส่วนในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ได้ให้บริษัทย่อยคือ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด เข้าซื้อกิจการในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) 9 โครงการ กำลังผลิตรวม 39.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และขอนแก่น ปัจจุบันสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟเป็นระยะเวลา 25 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2582 – 2583 โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2558

          ในปี พ.ศ. 2562 บริษัทมีรายได้ 66,562 ล้านบาท เพิ่มจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 41,682 ล้านบาทมีกำไรสุทธิ 4,061 ล้านบาท เพิ่มจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 702 ล้านบาท

          บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2560 ในนามบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น 42 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 17 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 22 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 2 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าจะพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (ภายในปี พ.ศ.2565) โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 3,126 เมกะวัตต์

          ทั้งนี้ แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภายในประเทศจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็กโดยมีลูกค้าหลัก คือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีแผนย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

          ส่วนแผนการรุกตลาดต่างประเทศ ในระหว่างที่พลังงานทดแทนในประเทศชะลอตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ต่างประเทศกำลังมุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปปักธงลงทุนพัฒนาไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมแล้วในบางประเทศ เช่น โครงการพลังงานน้ำในลาว ที่มีแผนการผลิต 133 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 15 เมกะวัตต์ รวมไปถึงมีแผนพัฒนาโครงการสายส่งพลังงานความร้อนร่วม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และพลังงานลม โดยมีแผนเข้าไปพัฒนาในเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ และกำลังศึกษาลู่ทางในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา เป็นขั้นต่อไป บริษัทมีผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีรายได้จากการขายและให้บริการ เติบโต 9.4 เปอร์เซ็นต์ ที่ 11,223 ล้านบาท 

ผู้ประกอบการ จังหวัดที่ติดตั้ง กำลังติดตั้ง (เมกะวัตต์สูงสุด)                         สถานะขายไฟฟ้า
บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ลพบุรี 72.59 ธ.ค. 2554
บริษัท บางจาก โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด พระนครศรีอยุธยา 34.43 ก.ค. 2555
บริษัท อี เอ โซลาร์ นครสวรรค์ จำกัด นครสวรรค์ 126.12 ธ.ค. 2556
บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด ลพบุรี 52 ก.พ. 2558
บริษัท อีเอ โซลาร์ ลำปาง จำกัด ลำปาง 128.39 ก.พ. 2558
บริษัท เอสพีพี ซิค จำกัด ลพบุรี 41 ธ.ค. 2558
บริษัท อีเอ โซลาร์ พิษณุโลก จำกัด พิษณุโลก 133.92 เม.ย. 2559
รวม  588.47

 

ตารางที่ 1: ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน
ที่มา : สำนักงาน กกพ.

 

บทสรุป

          การที่กระทรวงพลังงานประกาศชะลอการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็นเวลา 5 ปี ส่งผลต่อการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder ที่กำลังจะทยอยหมดสัญญาลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้กำไรของ Solar Farm แต่ละแห่งลดลง เป็นผลให้บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของไทยหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เหล่านี้ก็ยังมีความสนใจที่จะลงทุนในการผลิตไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการจะลดการใช้พลังงานหลักด้วย

 

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2563).  ‘6หุ้นโรงไฟฟ้า’ กำไรโต 20% โบรกห่วงราคา ‘เต็มมูลค่า’. จาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867920?fbclid=IwAR1BS4i1KcvLQn4OBrogY9kiaebbFJJs_hdrV209qI3sPTZEwEgAuAalXNo

โพสต์ทูเดย์. (2562).  “เอสพีซีจี” จับมือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่เท 3 หมื่นล้านร่วมธุรกิจโซลาร์รูฟในไทย. จาก
https://www.posttoday.com/finance-stock/stock/595525?fbclid=IwAR0Rs9o_K4gtI_7aRlsYQnvjsnBsfeX_k8sKY_Q9G28h5tyy76-JQ4z3M7c

ผู้จัดการออนไลน์. (2563).  EA เมินโควิดยื้อรถไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม-ลมหนุนผลงานพุ่ง. จากhttps://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000054066?fbclid=IwAR1ErXl_YLHTqfY18jZXesGf1kO-pSC_HpzUgZJDPU4ACJE3T-fnotxMCKw/

ผู้จัดการออนไลน์. (2563).  GPSC ปิดดีลซื้อโซลาร์ฟาร์ม 39.5 MW. จาก
https://mgronline.com/business/detail/9630000031169/ 

กรุงเทพธุรกิจ. (2563).  หุ้นกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจไม่ติด ‘โควิด’. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884962

ผู้จัดการออนไลน์. (2563).  กันกุลฯ ปีนี้รายได้แตะ 9 พันล้าน-เตรียมประมูลงานใหม่เพิ่ม. จากhttps://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000024905/ 

สำนักข่าวอินโฟเควส. (2561).  GUNKUL ยันรัฐงดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ใน 5 ปีไม่กระทบ เหตุมุ่งเน้นงานตปท. – ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าของเอกชน. จาก
https://www.ryt9.com/s/iq05/2809884?fbclid=IwAR38-aJAGwPCRdG_PMnkCzecjMc9Mcjk02bn-CQGlFPGORRTswGxE63kB2g 

โพสต์ทูเดย์. (2563).  BGRIM โตสวนวิกฤตโควิด ตุนเงินสด 2.1 หมื่นล้านพร้อมรับมือ. จาก https://www.posttoday.com/economy/news/623269?fbclid=IwAR3HwvAG1drL5lLz2CfM2ei1nA25hk9Be-kMew7FmEFVdJZtRnn-eAqPuig 

กรุงเทพธุรกิจ. (2562).  บี.กริม Big Jump พลังงานทดแทนอาเซียน. จาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/830526?fbclid=IwAR23trXv6floWtCIkO-47KXH7730edCs6JIrhVX4QEyI6LTXwqa1ouH5Uhs 

สำนักข่าวอินโฟเควส. (2563).  SUPER เผยโรงไฟฟ้าขยะพิจิตรทำรายได้กว่า 800 ลบ./ปี หนุนผลงานปีนี้โต 20%. จาก https://www.infoquest.co.th/2020/15936?fbclid=IwAR2ZnEkdJQiIjWa975H-Ct71uEflPqSiPTYPvOswFFNk7mdzK-WpaLQQkd0

preload imagepreload image