ประชาชนตื่นตัวผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง ในขณะที่รัฐตอบสนองช้า

39. PJSolarPeoplecitySB

สรุปประเด็นหลัก

  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ทำให้คนต้องทำงานอยู่บ้าน และความสนใจของประชาชนทั่วประเทศ
  • แม้ประชาชนจะตื่นตัวในการใช้โซลาร์เซลล์ และมองเห็นประโยชน์ที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดจากนโยบายของภาครัฐที่ทำให้การเติบโตมีความล่าช้าและไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

 

บทนำ

           การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในภาคการเกษตรภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเพื่อพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้เห็นว่า ด้วยอุปกรณ์ที่ราคาถูกลง ถ้าหากภาครัฐให้การสนับสนุนจริงจัง จะทำให้โอกาสที่ประชาชนจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือถ้ามีเหลือก็ขายให้กับรัฐ เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

           เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนต่อการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

 

พลังงานแสงอาทิตย์กับความตื่นตัวของภาคประชาชน

           หากย้อนไปเมื่อสิบปีก่อนอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านพักอาศัย อาจเนื่องด้วยต้นทุนที่สูง หรือการคืนทุนที่ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ปัจจุบันด้วยราคาแผงโซลาร์เซลล์ที่ลดต่ำลงอย่างมาก แผงขนาด 350 วัตต์ ราคา 3 – 5 พันบาทเท่านั้น บวกกับกระแสรักษ์โลกที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องพลังงานสะอาดทำให้ผู้ใช้แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมและสถานที่ราชการเอง ก็เริ่มมีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์กันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

           ความตื่นตัวของภาคประชาชนในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดเครือข่ายพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เช่น เครือข่ายคนกินแดดภาคใต้ เครือข่ายโซลาร์เซลล์ภาคอีสาน เครือข่ายพลังงานภาคเหนือ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ในกิจกรรมด้านการเกษตร การประมง เพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้า ทำให้เกิดชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีติดตามจำนวนนับแสนคน 

           ดร.สมพร ช่วยอารี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ในช่วง 7 ปี นับแต่ได้จับเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ เรียนรู้ และให้ความรู้ชาวบ้าน “จับแดดมาทำพลังงานไฟฟ้า” พบว่า มีความตื่นตัวของชาวบ้าน เมื่อพวกเขาเข้าถึงข้อมูล มีความรู้ ในการทำงานของโซลาร์เซลล์ และการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกิจกรรมในครัวเรือนและการเกษตร ก็ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้มากขึ้นและเกิดความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น 

           “ตอนนี้ประชาชนไม่รอรัฐให้เพิ่มราคาการรับซื้อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น พวกเขาตัดสินใจผลิตไฟฟ้ากันเองแล้ว และพวกเขามีชุมชนที่คุยกันเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และห้องสนทนาใน Line จำนวนนับแสนคน” สมพรกล่าว

           การเกิดขึ้นของ “โรงเรียนศรีแสงธรรม” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “โรงเรียนโซลาร์เซลล์” โรงเรียนต้นแบบด้านพลังงานทดแทน โดยพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ไม่เพียงสอนหนังสือในระบบของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ที่โรงเรียนแห่งนี้ยังสอนเรื่องไฟฟ้า เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และยังได้เผยแพร่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์  โดยหวังให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานได้ 

           ขณะเดียวกันยังเปิดอบรมเรื่องโซลาร์เซลล์ให้กับบุคคลที่สนใจเข้ามาดูงานที่โรงเรียน รวมทั้งการเข้าไปช่วยติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งแบบนอกและในระบบสายส่ง (Off & on grid) โดยทีมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนศรีแสงธรรม เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้านอกระบบสายส่ง 3,000 วัตต์ ให้กับสำนักสงฆ์พุทธอุทยานเขาคอก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ การติดตั้งระบบสูบน้ำลึกพลังแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน 2 หมู่บ้าน ใน อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น

           นอกจากเกิดเครือข่ายประชาชนและโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังเกิดเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือ ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ภาคอีสาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลศรีอุดม จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลชุมแพจ.ขอนแก่น  ภาคกลาง 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี ภาคตะวันตก 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โดยจะติดตั้งแห่งละ 30 กิโลวัตต์ ในระบบออนกริดหรือระบบที่ไม่ใช้แบตเตอรี่สำรอง แต่ยังเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้า เพื่อเป็นการเริ่มต้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้กับโรงพยาบาล สำหรับงบประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม7 โรงพยาบาลจะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท 

           โดยเป้าหมายของกองทุนฯ คือ การปฏิรูประบบพลังงานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้เกิดการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารโรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ชุมชนที่เข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า และที่สำคัญคือเพื่อก่อให้เกิดนโยบายและมาตรการสนับสนุนระบบ Net metering รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประชาชน

           พระครูวิมล ปัญญาคุณ ในฐานะประธานกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวในระหว่างการแถลงเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ว่า “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 30 วัตต์ให้กับโรงพยาบาล แม้จะไม่ใช่ขนาดใหญ่นัก แต่ก็สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ถึงปีละ 2 แสนกว่าบาท ดังที่อาตมาได้เริ่มนำร่องให้กับโรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ ซึ่งใช้งบประมาณ 720,000 บาท ทางโรงพยาบาลออก 300,000 บาท ที่เหลือได้จากการร่วมบริจาค ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังส่องแสงมาคาดว่า ไม่เกินครึ่งปีทางโรงพยาบาลก็จะได้เงิน 300,000 บาทที่ลงทุนติดตั้งคืน หากเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 600 ล้านบาท หรือปีละ 7,200 ล้านบาท ตลอดอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ 25 ปี จะประหยัดค่าไฟรวมกันได้ 180,000 ล้านบาท จำนวนเงินที่โรงพยาบาลประหยัดได้นี้จะสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนยามเจ็บไข้ได้ป่วยได้ทั้งประเทศ และยังลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย”

           ส่วนของภาครัฐนั้นแม้ว่าจะเคลื่อนไหวค่อนข้างช้า แต่ก็มีการขับเคลื่อนเพื่อให้โซลาร์เซลล์ลงไปที่ภาคประชาชน โดยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำ “โครงการคนบันดาลไฟ” เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโซลาร์เซลล์ และโครงการ “มหา’ลัยไฟจากฟ้า” ซึ่งสอนวิธีการผลิตไฟฟ้าฉบับออนไลน์ จาก 4 สำนัก คือ สำนักศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี สำนักลานหินตัด จ.บุรีรัมย์ สำนักช่วยอารีย์ จ.นครศรีธรรมราช และสำนักช่างดำ จ.บุรีรัมย์ โดยมีหลักสูตร 3 ระดับ คือ ความรู้ทั่วไป ความรู้พึ่งพาตัวเอง และความรู้เชิงประยุกต์ อีกทั้งได้วางแผนจัดอบรมในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ15 แห่ง จำนวน 32 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,500 คน

           ความนิยมในส่วนของผู้บริโภค ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนในส่วนอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาจับกลุ่มลูกค้าในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2557 บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำโครงการหมู่บ้านโซลาร์เซลล์เต็มรูปแบบรายแรกของไทย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และในปี พ.ศ. 2563  ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ในฐานะผู้ดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการหมู่บ้านโซลาร์เซลล์เต็มรูปแบบรายแรกของไทย  เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2563 เสนายังมีแผนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับทุกโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก จำนวน 10 โครงการ รวมมูลค่า 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 6 โครงการ และแนวราบ 4 โครงการ 

           เกษรากล่าวว่า เรื่อง Work From Home แรก ๆ เราคิดว่าจะมีผลกับธุรกิจมากน้อยเพียงใด แต่ทางเสนาฯ ได้ผลตอบรับจากลูกบ้านที่เราติดโซลาร์ทำให้ประหยัดค่าไฟไปมาก ทำให้เราหวนกลับมาคิดว่า เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้วค่าไฟต้องแพงมาก ๆ ดังนั้น รูปแบบของบ้านอาจจะมากกว่าคำว่าอยู่อาศัย หรือจะอยู่เพื่อทำงานและออกกำลังกาย แต่ทั้งหมดแล้วล้วนมีผลต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

           “โซลาร์น่าจะเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่จะมีการใช้และมีประโยชน์มาก ในโลกช่วงโควิด – 19 นี้โซลาร์จะเป็นอะไรที่ชัดเจนขึ้น ผลจากการสำรวจ 400 หลังคาเรือนของเสนาฯ พบว่า ในอดีตคนทำงานที่บ้านไม่ใช่กลุ่มใหญ่ของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคนอยู่บ้านใช้ไฟเฉลี่ยประมาณ 3.5 ชั่วโมง แต่วันหยุดใช้ไฟประมาณ 4.5 ชั่วโมง ยกตัวอย่าง หากเราติดโซลาร์เท่ากับ 2 กิโลวัตต์ (KW) ซึ่งจะเท่ากับเครื่องปรับอากาศ 2 ตัว 24,000 BTU ซึ่งหากบ้านหลังนั้นไม่ได้ติดโซลาร์ ใช้เฉพาะเครื่องปรับอากาศ ไม่ได้คำนวณอย่างอื่น ก็จะมีค่าไฟประมาณ 1,400 บาทต่อเดือน หากติดโซลาร์ซึ่งจะมีชั่วโมงการผลิตพลังงานไฟฟ้าประมาณ 5 KW เท่ากับบ้านหลังนั้นจะประหยัดไฟคิดเฉพาะการเปิดเครื่องปรับอากาศได้เท่ากับไม่ติดโซลาร์” เกษรากล่าวและบอกว่า ตอนนี้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ถูกกว่าเมื่อตอนทำโครงการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

 

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ส่งบ้านจัดสรร 10,000 หลังเข้าร่วมโครงการ Solar Move

           มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย แถลงเปิดโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งบนหลังคา (Solar  Rooftop) เข้าสู่ชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน หรือ Solar Move เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมูลนิธิได้รับการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าตามมาตรา 97(5) ผ่านการดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop เข้าสู่ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญหลายประการ อาทิ เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในหมู่บ้านจัดสรรประมาณ 200 โครงการ จำนวนครัวเรือน 10,000 ครัวเรือน ให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด

           ทั้งนี้ มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop เข้าสู่ชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน (Solar Move) ประกอบด้วย บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บมจ.เอสซี แอสเสทคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง โครงการไอลีฟพาร์ค พระราม 2 กม.14 ที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์และกังหันลม

           เช่น บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน โดยบริษัทได้เปิดโครงการ 3 โครงการ รวมกันประมาณกว่า 1,000 ครัวเรือน ขณะที่บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)ได้ส่งโครงการบ้านจัดสรรเข้าร่วมโครงการ Solar Move ประมาณ 19 โครงการ ประมาณ 4,000 หลัง เช่นเดียวกับ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งโครงการบ้านจัดสรรเข้าร่วมโครงการ Solar Move ประมาณ 30 โครงการ ประมาณ 3,000 หลัง บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้  จำกัด (มหาชน) ได้ส่งโครงการบ้านจัดสรรเข้าร่วมโครงการ Solar Move ประมาณ 10 โครงการ ประมาณ 1,000 หลัง เป็นต้น

           ทั้งนี้ โครงการ Solar move หวังว่า หากมีการรณรงค์หรือส่งเสริมให้ภาคครัวเรือน รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรรได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของ กกพ. ที่ส่งเสริมให้มีการติดตั้งปีละประมาณ
100 เมกะวัตต์ (MW) หรือเป็นการติดตั้งปีละ 10,000 – 20,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าได้ 4,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการติดตั้งครบ 10 ปีตามแผน PDP 2018 ก็จะมีกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 1,000 MW  ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่า จะมีประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนประมาณ 200,000 ครัวเรือน

           โดยครัวเรือนหรือกลุ่มที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าถึง 10.1 เปอร์เซ็นต์ (พิจารณาจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562)  โดยมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 26 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ไฟมากเป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 45 เปอร์เซ็นต์ หากกลุ่มครัวเรือนที่อยู่อาศัยสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ก็จะลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดอื่น ๆ ลงได้

           ความสนใจการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มคนทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเขตเมืองใหญ่ เกิดขึ้นหลังจากการทำงานอยู่บ้าน (Work from home) ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด – 19 และค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความสนใจที่จะหาทางติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟฟ้าการสืบค้นเพื่อหาข้อมูลบริษัทที่ติดตั้งก็เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทที่ผลิต จำหน่ายและติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็ออกโปรโมชั่นมาจูงใจด้วยเช่นกัน เช่น มีการแข่งขันกันนำเสนอโปรโมชั่นที่หลากหลาย อาทิ โปรผ่อนชำระ0 เปอร์เซ็นต์ นานสูงสุด 10 เดือน หรือ โปรโมชั่นลดสูงสุด 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น 

           เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของบริษัทรับติดตั้งบริการโซลาร์เซลล์เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีลูกค้าสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 3 kW เพื่อลดค่าไฟ หลายคนไม่ได้มองไปถึงเรื่องขายไฟ แต่มองแค่ลดค่าไฟเท่านั้น และเมื่อลูกค้าเห็นราคาที่ติดตั้ง พร้อมกับมีระบบเงินผ่อนได้ด้วยก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น 

           ขณะที่ สมพร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า เป็นช่วงที่เหมาะเพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แม้รัฐจะลดค่าไฟฟ้า  แต่ก็ทำให้คนเกิดคำถามถึงการพึ่งตนเองด้านพลังงานมากขึ้น เป็นการเติมพลังงานไฟฟ้าเข้าไปในบ้านเพื่อลดภาระการใช้พลังงาน โดยอัตราการใช้โซลาร์เซลล์จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่อุปกรณ์ทุกอย่างราคาถูกลงแผงโซลาร์เซลล์ก็ถูกลงมาก 

           “เอาแดดไปลดค่าไฟ” “เอาแดดไปประกอบอาชีพ” “จะเกิดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้คุ้มค่ามากขึ้น เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของครัวเรือน โควิดจะทำให้เราคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ” อาจารย์สมพรกล่าว

           อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะตื่นตัวในการใช้โซลาร์เซลล์ และมองเห็นประโยชน์ที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้การเติบโตมีความล่าช้าไม่รวดเร็วตามศักยภาพที่ควรจะเป็น 

           สมพร บอกถึงข้อจำกัดของการใช้โซลาร์เซลล์ เช่น ในเรื่องของการขายพลังงานไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตได้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมีราคาที่ต่างกัน ราคารับซื้อ 3.8 บาทต่อหน่วย ราคาขายประมาณ 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งควรปรับให้มีราคาที่ไม่ต่างกันมากนัก และการขึ้นทะเบียนระบบอนุญาตผลิตไฟฟ้าควรให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องใช้เอกสารจำนวนมาก 

           การขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะมีขั้นตอนเริ่มจากการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าออนไลน์ โดยผู้สมัคร หรือคนขายระบบโซลาร์เซลล์ที่ได้รับมอบอำนาจอัปโหลดเอกสาร หลังจากนั้นจะต้องรอ PEA พิจารณาแบบคำขอขายไฟฟ้า ประมาณ 7 – 10 วัน และจะตรวจสอบสมรรถนะ (Capacity) ของหม้อแปลงว่า สามารถรับระบบโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการแจ้งผล ซึ่งตั้งแต่เริ่มการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าจนถึงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อแล้วเสร็จจะดำเนินการชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และลงนามซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะต้องไปชำระค่าบริการที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวงประจำท้องที่ที่ติดตั้ง ซึ่งหลังจากนี้เราก็สามารถติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้และดำเนินการขายไฟฟ้าคืนให้กับทางการไฟฟ้าต่อไป

           อาจารย์สมพร ยังบอกอีกว่า ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เช่น หากมีงบประมาณสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ควรเป็นงบของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ สุดท้าย คือ การทำฐานข้อมูลชาติ รวบรวมข้อมูลของผู้ที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล และคิดแผนการส่งเสริมเชิงนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในด้านของการพัฒนาโครงการการผลิตไฟฟ้า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยพลังงานทางเลือก โดยตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังสำรวจประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศว่ามีจำนวนเท่าไร คาดว่าจะเสร็จราว ๆ เดือนมิถุนายน

ปี พ.ศ. 2540-2542 2452-2543 2545-2546 2554 2555 2556 2557 2558 2559 2560
กำลังติดตั้งระดับกิโลวัตต์

 (บาท/วัตต์สูงสุด)

180-200 110 70-80 50-60 35-50 25-40 16-22 16-20
กำลังติดตั้งระดับเมกะวัตต์

(บาท/วัตต์สูงสุด)

110 50-60 35-45 20-25 20-25 15-20 15-17

 

ตารางที่ 1: การเปลี่ยนแปลงของราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใน พ.ศ. 2540 – 2560
ที่มา: รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2560

ปี พ.ศ. 2540-2541 2542-2543 2545-2546 2554 2555 2556 2557 2558 2559 2560
บ้านที่อยู่อาศัย

(>10 กิโลวัตต์สูงสุด)

210-250 200-220 N/A N/A 90-150 65-100 60-100 52-73 51-64
อาคารธุรกิจ/โรงงาน

(>10-1.000 กิโลวัตต์สูงสุด)

N/A N/A 90-150 60-65 50-55 43-57 45-54
โรงไฟฟ้าพลังงาน
แสงอาทิตย์

(>1,000 กิโลวัตต์สูงสุด)

110 60-100 40-60 30-50 42-57 41-48

 

ตารางที่ 2:  การเปลี่ยนแปลงของราคาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใน พ.ศ. 2540 – 2560
ที่มา: รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2560

 

บทสรุป

           ทิศทางของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 ที่ทำให้คนต้องทำงานอยู่บ้าน และความสนใจของประชาชนทั่วประเทศจนทำให้เกิดเครือข่ายพลังงาน มีการรวมกลุ่ม เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตด้านเกษตร ประมง และด้านอื่น ๆ การผลิตไฟฟ้าได้เอง ทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงของครอบครัว ความสนใจของภาคประชาชน ประชาสังคม หรือแม้แต่ภาคธุรกิจก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และศักยภาพของพื้นที่พลังงานแสงอาทิตย์ก็มีเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้า แต่ทำอย่างไรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จึงจะไปสู่เป้าหมายที่รัฐวางไว้และเป้าหมายที่ประชาชนจะขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้เพิ่มมากขึ้น

 

อ้างอิง

AEITF. (2563).  กกพ.สนับสนุน AEITF ลุยโครงการ Solar Move ดึงอสังหาฯ 200 หมู่บ้าน 10,000 ครัวเรือนมีส่วนร่วมพลังงานสะอาด. จาก https://aeitfthai.org/pr-news/11234.html?fbclid=IwAR3hQdWlpHUKTeF_u9dlDwCnQtZtz-_wNwizTwvPCkqauH13QTzlgGVlpfo

Thai PBS News. (2562).  “กกพ.” เดินหน้าส่งเสริมโซล่าเซลล์ สร้างพลังงานทางเลือก. จากhttps://news.thaipbs.or.th/content/284202?fbclid=IwAR3HZdLP68xcaiqnLi13SSHvH4bsmuNXTybx17ZkF6oF6vP__Jg62Mmrtuo 

โพสต์ทูเดย์. (2559).  “โรงเรียนศรีแสงธรรม” จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน. จากhttps://www.posttoday.com/social/local/420079?fbclid=IwAR0euvdV0FIMy0XEQjB-cS8e158ccnhLO_oILbUeZLj7on1zJsxLFl9fhWM 

ฐานเศรษฐกิจ. (2563).  เสนา ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 10 โครงการ. จากhttps://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/423237?fbclid=IwAR0V934_ZskZu5_LC_upciebrfilnET4YPzuSOklVpe2OgjZPTJawsTrBZc  

ผู้จัดการออนไลน์. (2563).  SENA นำร่องโปรดักต์ใหม่ “ทาวน์โฮม” ติดโซลาร์ ตอบโจทย์ Work From Home. จาก https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000044611?fbclid=IwAR0E3bW_cQsYUqF_LmqWCulXux3_dtk16VLdY8-Toq6PIXNSze0LF7TOtTc เข้าถึง 26 พฤษภาคม 2563]

กรีนพีช. (2561).  เครือข่ายประชาชนเปิดตัวกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน. จาก https://www.greenpeace.org/thailand/press/3260/thailand-solar-fund/ 

preload imagepreload image