ขยะโซลาร์เซลล์ล้นเมืองไทยขณะที่โรงงานรีไซเคิลและกฎหมาย ยังไปไม่ถึงไหน!

49. PJSolarWaste

สรุปประเด็นหลัก

  • ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากแผงโซลาร์เซลที่หมดอายุการใช้งานแล้ว
  • ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้วิธีการกำจัดขยะจากแผงโซลาร์เซลล์อย่างง่าย คือ การจัดการถอดแยกเบื้องต้นและฝังกลบส่วนที่เหลือ
  • โรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แห่งแรกในประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการกำจัดขยะเหล่านี้ในระยะเริ่มแรก 112 ตันในปี พ.ศ. 2565

 

บทนำ

          นับจากปี พ.ศ. 2565 จนถึงปี พ.ศ. 2600 ประเทศไทยจะมีแผงโซลาร์เซลล์ทยอยหมดอายุประมาณ 620,000 – 790,000 ตัน และเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ขณะที่ยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากดังกล่าวอย่างเป็นระบบ การกำจัดส่วนใหญ่ยังเป็นการกําจัดแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน มีต้นทุนต่ำ โดยใช้การคัดแยกขยะแล้วนําไปย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนเข้าตามกระบวนการปรับเสถียรก่อนทิ้งในหลุมฝังกลบ แต่การจัดการเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่ซึ่งจะมีกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อให้ได้วัสดุคุณภาพดีที่สามารถรีไซเคิลได้ซึ่งต้องใช้เงินทุน บุคลากรและเทคโนโลยีมากขึ้นยังไม่เกิดขึ้น 

 

วัตถุประสงค์ของบทความ

          เพื่อนำเสนอวิธีการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน และแนวทางการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ในอนาคต

 

แผงโซลาร์เซลล์หมดอายุแล้วทำอย่างไร ?

          ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ มีเพียงการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เพียง 1 แห่ง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเป็นการนำแผงเก่าที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนเซลล์เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนแผ่นโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุก็ใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศหรือนำมาบดย่อยซากโซลาร์เซลล์และฝังกลบในหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม

          จากการคาดการณ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีโรงงานซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์และโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์ ไม่ต่ำกว่า 100 โรงงาน และมีขีดความสามารถในการรีไซเคิลขั้นต่ำ 5 ตันต่อวัน หรือ 1,480 ตันต่อปี จะใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท แต่หากเป็นโรงงานกำจัดแบตเตอรี่ก็จะมีมูลค่าสูงกว่านี้ 

          ก่อนหน้านี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เตรียมออกประกาศขอบเขตและเงื่อนไขการลงทุนเพื่อว่าจ้างบริษัทศึกษาความเหมาะสมในการสร้างโรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์ ที่ในปี พ.ศ. 2563 จะมีปริมาณสะสมที่ต้องกำจัด 550,000 ตัน หรือ 18 ล้านแผง

          “โรงงานกำจัดซากโซลาร์เซลล์ที่จะก่อสร้างแห่งใหม่นี้ เอกชนที่ได้รับเลือกเข้ามาลงทุนจะได้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนด้วย แต่ต้องดำเนินการตามนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) หรือปลอดมลพิษ และต้องได้รับรองมาตรฐาน ISO 14000 ด้วย โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นแหล่งที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก” ทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว 

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า (Management of expired solar PV panels) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญรัชฎาวงศ์ และคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ระบุว่า ปลายปี พ.ศ. 2558 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันถึง 223,948 เมกะวัตต์ โดยเป็นของเยอรมนี 39,636 เมกะวัตต์ จีน 43,194 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่น 33,300 เมกะวัตต์ และสหรัฐอเมริกา 23,955 เมกะวัตต์ ทั้งนี้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ปีเดียวมีค่าถึง 47 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ดี โซลาร์เซลล์นั้นมีอายุการใช้งานที่คุ้มค่าอยู่ระหว่าง 20 – 25 ปี เมื่อหมดอายุที่ให้ความคุ้มค่าหรือชำรุดจากสาเหตุต่าง ๆ แผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นของเสียที่ต้องมีการจัดการ

          สำหรับในต่างประเทศการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพ จะมีการรวบรวมโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานนำมาทำการถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยหลังการรวบรวมแล้ว จะมีกรรมวิธีการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดความคุ้มค่าที่สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยจำแนกตามความยากง่ายและความสมบูรณ์ของวัสดุสุดท้ายเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล ดังนี้ 1. การจัดการถอดแยกเบื้องต้นและฝังกลบส่วนที่เหลือ 2. การถอดแยกเบื้องต้น บด และทำการคัดแยกวัสดุหลังการบด 3. การถอดแยกเบื้องต้นและการใช้เครื่องมือในการแยกส่วนกระจกออกไป และ 4. การถอดแยกเบื้องต้นและการแยกส่วนวัสดุให้สามารถนำกลับไปทำแผงโซลาร์เซลล์ได้อีก ส่วนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559 พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีการจัดการตามข้อ 1 คือการจัดการถอดแยกเบื้องต้นและฝังกลบส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ การถอดแยกขั้นต้นอาจจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้โรงงานคัดแยกขยะที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. โรงงาน ในประเภทที่ 105

          แต่ปัญหาสำคัญของไทยก็คือ ปริมาณจำนวนโรงงานเภทที่ 105 และกำลังการผลิตติดตั้งที่มีอยู่ในจังหวัดที่ไม่สอดคล้องกันและไม่น่าเพียงพอ เช่น ในจังหวัดสระแก้ว มีโซลาร์เซลล์ติดตั้งถึง 253.13 เมกะวัตต์ แต่กลับมีโรงงานคัดแยกประเภท 105 จำนวนเพียง 2 โรงงาน  และโรงงานคัดแยกมักแสดงความสนใจในการแยกของที่แยกได้ง่ายและขายได้ง่าย เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก สายไฟ เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อจำกัดสำคัญของโรงงานคัดแยกคือไม่ต้องการรับขยะที่มีสารปนเปื้อน ไม่มีมูลค่า หรือขายได้ยาก เช่น แผ่นเวเฟอร์ แผ่นกระจกนิรภัยแตก หรือกระจกที่ปนเปื้อนฟิล์ม EVA หรือ สาร Anti-Reflectant เนื่องจากวัสดุเหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่โรงงานคัดแยกจะต้องจ่ายค่ากำจัดเพื่อให้ไปกำจัดอย่างถูกต้องที่หลุมฝังกลบ

          ทั้งนี้ ในงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ และคณะ ได้ทำการคาดการณ์ปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ที่เริ่มติดตั้งในไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2545 และจะทยอยหมดความคุ้มค่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2601 พบว่า จะมีน้ำหนักแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นขยะประมาณสูงถึง 626,301 – 794,840 ตัน โดยของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2588 ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ กระจก อะลูมิเนียม และทองแดง โดยกระจกมีปริมาณรวมถึง 195,403 – 286,475 ตัน จากแผงทุกประเภท อะลูมิเนียมมีปริมาณอยู่ในช่วง 20,000 – 30,000 ตัน และทองแดงมีปริมาณอยู่ในช่วง 1,000 – 2,000 ตัน ส่วนโลหะที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมก็คือ ตะกั่วจะกลายเป็นของเสีย 134.2 – 198 ตัน และแคดเมียมจำนวน 0.65 – 0.95 ตัน ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้องแล้วก็จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์เป็นมูลค่ามหาศาลได้

 

โรงงานรีไซเคิลต้นแบบ

          เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปีนับจากปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ เพื่อรองรับขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นล็อตแรกในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 112 ตัน

          สำหรับความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และมีขอบเขตความร่วมมือ โดย กรอ. จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่

1. ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในไทย

2. ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม

3. ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ

          ส่วน กฟผ. จะรับผิดชอบ ได้แก่

          1. ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสม
          2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม
          3. ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจนำมาบูรณาการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบ

          ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย” กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานในประเทศ

          สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งโรงงานกำจัดโซลาร์เซลล์ จะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งที่มีการใช้โซลาร์เซลล์สูง เช่น พื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมาก เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจากสำรวจพบว่า ในภาคกลางเป็นพื้นที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มากที่สุด 1,750 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นภาคเหนือ 626 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 465 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 41 เมกะวัตต์ รวม 2,882 เมกะวัตต์

          ขณะนี้โซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนี้กำจัดไม่ยาก เพราะต้องขึ้นทะเบียน มีระเบียบแบบแผนควบคุมที่รัดกุม ส่วนอีก10 เปอร์เซ็นต์ ติดบนหลังคาบ้านเรือนทั่วไป ในส่วนนี้นำเข้าระบบกำจัดยาก 

          นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาแผนกำจัดซากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ทั้งระบบ ซึ่งเน้น 2 เรื่อง คือ 1. เทคโนโลยีการรีไซเคิลและการกำจัด 2. กลไกการนำซากเหล่านี้เข้าระบบ 

          สำหรับเทคโนโลยีการรีไซเคิลและกำจัดซาก ในขั้นแรกคือ การแยกชิ้นส่วนทางกายภาพ เช่น อะลูมิเนียม กระจก ไปรีไซเคิลนำกลับมาใช้ ส่วนที่เหลือที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้จะนำฝังกลบหรือเผา ส่วนแบตเตอรี่จะกำจัดยากกว่า เพราะมีอันตรายหากขนส่งหรือจัดเก็บไม่ถูกต้องอาจจะระเบิด หรือเกิดสารพิษรั่วไหลได้ จึงต้องมีโรงงานกำจัดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

          “รายได้จากการรีไซเคิลโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่จะมีไม่มากพอกับต้นทุนในการกำจัดทั้งหมด ดังนั้น ผู้ใช้อาจจะต้องจ่ายค่ากำจัดในบางส่วนแต่ก็ไม่มากนัก จึงจะทำให้กระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องเดินหน้าต่อไปได้” ประกอบกล่าว

          สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แต่มีกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายฉบับมาปรับใช้ในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ เช่น สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กฎหมายที่นำมาปรับใช้กับการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

          สำหรับการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประชาชนนั้น มาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะ สิ่งปฏิกูล และมูลฝอยต่าง ๆ 

          กฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันและมาตรการทางกฎหมายในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ทั้งไม่มีกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ทำให้หน่วยงานภาครัฐ โดยกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้น และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จและได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 โดยผ่านวาระแรก เมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

          ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นการนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมากำหนดไว้เป็นครั้งแรก ทำให้ผู้ผลิตเข้ามามีบทบาทในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างเป็นระบบ และกำหนดวิธีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การห้ามมิให้ประชาชนทิ้งซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์รวมกับมูลฝอยทั่วไป ห้ามถอดแยกชิ้นส่วนของซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งมีการจัดตั้งศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์อันเป็นการจำกัดบทบาทของผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากนั้นแล้วยังกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่รับคืน จัดเก็บ และรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และจัดทำแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์อีกด้วย 

ตารางที่ 1: ปริมาณขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2581
ที่มา: กระทรวงพลังงาน รวบรวมและคำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตารางที่ 2: ส่วนประกอบโลหะมีค่าในแผงโซลาร์เซลล์ ระหว่างปี 2545 – 2561
ที่มา: Perez-Santalla รวบรวมและคำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

บทสรุป

          ในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ในอนาคตจะมีปริมาณซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์เกิดขึ้น นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้วยังมีภาคครัวเรือนอีก ในขณะที่
แนวทางการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์อย่างเป็นระบบยังไม่คืบหน้ามากนัก โรงงานรีไซเคิลต้นแบบพึ่งจะลงนามศึกษา โรงงานรีไซเคิลที่จะต้องเกิดขึ้นตามพื้นที่ที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากก็ยังไม่เกิดขึ้น การควบคุมแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุก็ยังไม่เป็นระบบ โอกาสที่ซากแผงโซลาร์เซลล์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นได้

 

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2562).  ก.ม.จัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์: ทางแก้ปัญหาขยะโลกยุคอนาคต. จากhttps://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646640?fbclid=IwAR3KyU5D1v3mYs0emuJi8oN6QGfg_oIdbc8a8qmxf_7yn5AzL8z4t-A1UEw 

กรุงเทพธุรกิจ. (2563).  กรอ.-กฟผ.เล็งตั้งโรงงานกำจัดซากแบต-โซลาร์เซลล์. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/863391?fbclid=IwAR3YArIkkF5JeHA5w44mrBZvlNAV5L6KOTdf0dS1xSzsqkhUZBObS27qIF8 

 TCIJ. (2561).  คาดปี 2565-2601 ไทยเผชิญ ‘ขยะโซลาร์เซลล์’ สะสมเกือบแปดแสนตัน. จาก https://www.tcijthai.com/news/2018/04/scoop/7789/

ปัญญ์ จันทร์ลออ. (2559). มาตรการทางกฎหมายในการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. จาก TU_2016_5601034514_6201_5238.pdf

ไทยรัฐ. (2562).  แผนกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ หมดอายุใช้งาน 7.9 แสนตัน. จาก
https://www.thairath.co.th/news/business/1539581 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน นครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563).  ปัญหาขยะแผงโซลาร์ในอนาคตจัดการอย่างไร. จาก https://erdi.cmu.ac.th/?p=1671 

preload imagepreload image