ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ตัวอย่างความสำเร็จของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเมือง

10. PJSmartBusStationRefixSB

สรุปประเด็นหลัก

  • ป้ายรถเมล์พลังงานแสงอาทิตย์ คือ วิถีชีวิตใหม่สำหรับคนในเมือง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น
  • วัตถุประสงค์และแนวคิดของการติดตั้งป้ายรถเมล์พลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีป้ายรถเมล์อัจฉริยะ

 

บทนำ

          วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ใครหลายคนต้องนั่งรอรถเมล์เพื่อเดินทางไปทำงาน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร จะได้รับการปรับปรุงบ้างแล้ว แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหากป้ายรถเมล์มีการพัฒนาฟังก์ชันให้ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองมากยิ่งขึ้น

          หากใครมีโอกาสไปเที่ยวตามเมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศอาจเคยพบเห็นหรือใช้บริการ “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” ที่นอกจากจะใช้เป็นป้ายรอรถโดยสารสาธารณะแล้ว ภายในป้ายยังประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ จออิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่ใช้แสดงเส้นทางเดินรถ อินเทอร์เน็ตไร้สายที่ให้บริการฟรี ระบบเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา ไปจนถึงมุมสำหรับอ่านหนังสือออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

 

วัตถุประสงค์ของบทความ 

          เพื่อนำเสนอวิธีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น ป้ายรถเมล์ กับการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดที่คนเมืองสามารถเข้าถึงได้

 

ป้ายรถเมล์ (ไม่) ธรรมดา สู่คอมมูนิตี้ขนาดเล็ก

          ประเทศสหรัฐอเมริกา มีป้ายรถเมล์จากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกนำมาติดตั้งในหลายมลรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการสร้างระบบคมนาคมสีเขียว (green transportation) หัวใจหลักของการออกแบบป้ายรถเมล์เหล่านี้คือ สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน ทั้งในเรื่องไฟส่องสว่างและการเป็นอาคารกันแดดกันฝน ตัวอย่างเช่น ป้ายรถเมล์ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ได้นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับโคมไฟi-Shelte โดยมีจุดเด่นตรงที่รวมพลังงานโซลาร์เซลล์และซอฟต์แวร์เข้าด้วยกัน ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ควบคุมความสว่างของโคมไฟ โดยเป็นการปรับระดับความสว่างตามแสงและสภาพอากาศในเมือง เช่นเดียวกับที่เมืองซานฟรานซิสโก แผงโซลาร์เซลล์ได้ถูกติดตั้งบนป้ายรถเมล์ภายในเมืองกว่า 1,200 แห่ง เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าแก่จอ LED ที่คอยบอกเวลาการมาถึงของรถเมล์ และปุ่มขยายเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา

          สำหรับป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะกลายเป็นต้นแบบของป้ายรถเมล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนในเมือง และป้ายรถเมล์ของประเทศสิงค์โปร์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นป้ายรถเมล์ที่ดีที่สุดในโลก ป้ายรถเมล์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่เมืองจูร่ง ทางตะวันตกของสิงค์โปร์ ถูกพัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัทเอกชนDP Architects และหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้แนวคิดที่ว่า ต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนได้มาพบปะกัน โดยภายในป้ายรถเมล์ประกอบไปด้วยหลังคาโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ สวนหย่อมขนาดเล็ก ร้านค้า ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตไร้สาย หน้าจอ interactive บอกตารางเวลาเดินรถ สภาพอากาศและข่าวสารต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบนี้ยังเชื่อมต่อกับห้องสมุดแห่งชาติเพื่อให้บริการดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ฟรี ขณะที่บริเวณโดยรอบป้ายรถเมล์ยังมีที่สำหรับจอดรถจักรยานและแสดงงานศิลปะอีกด้วย

          และนี้ก็คือ“ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเมือง และหวังว่าสักวันหนึ่งป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร จะมีการปรับปรุงและพัฒนาให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

 

บทสรุป

          หลายพื้นที่ทั่วโลกในเมืองใหญ่ ๆ เริ่มหันมาใส่ใจกับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เขตในเมือง ซึ่งป้ายรถเมล์ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็น ‘ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ’ โดยป้ายรถเมล์นี้จะใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้คนในเมืองสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ตัวอย่างประเทศที่มีป้ายรถเมล์อัจฉริยะเช่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการติดตั้งและความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  

 

อ้างอิง

Bharat. (2017).  World’s most high-tech bus stop has rooftop solar panels and garden. From https://www.planetcustodian.com/worlds-most-high-tech-bus-stop-has-rooftop-solar-panels-and-garden/9314/?fbclid=IwAR0Km8MpGh84A6tFbk16t_m_FIHsfoaug5er77AC0u4Ufykvoqe7U_cH4RM

Watt Watt. (2010).  Project: Bus Stops Go Solar for Lighting, Safety. From http://www.solaripedia.com/13/199/bus_stops_go_solar_for_lighting,_safety.html?fbclid=IwAR3bH1iwPSTz9vIMa9Sj4fo0cAu3fRxO3wpLlU9QHp4s9FFlL0UHpEgmxp8