เปลี่ยน “ลานจอดรถ” ให้เป็น “แหล่งพลังงานสะอาด”

4. PJContent1wk2SB

สรุปประเด็นหลัก

  • การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในรูปแบบของ Solar parking สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
  • รูปแบบและการจำแนกการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับภาคธุรกิจ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
  • กระแสความนิยมในการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในรูปแบบของ Solar parking ในสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป 

 

บทนำ

          หากกล่าวถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงพลังงานงานสะอาดหรือแม้แต่การติดตั้งแผง ‘โซลาร์เซลล์’ ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ นั้นก็คือเรื่องพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด แต่รู้หรือไม่ว่าพื้นที่ที่ไม่ควรมองข้ามและสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้นั้นคือ ‘ลานจอดรถ’ ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบในเรื่อง ‘การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ’ และ‘ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก’ ได้ และในปัจจุบันนี้ยังพบว่าหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา เริ่มเปลี่ยนพื้นที่ลานจอดรถธรรมดาให้กลายเป็น ‘Solar parking’ เพิ่มแหล่งพลังงานสะอาดให้กับคนในเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไม่ธรรมดาของ ‘Solar parking’ นั้น กำลังได้รับความนิยมจากประเทศในแถบยุโรปเพิ่มขึ้น 

 

วัตถุประสงค์ของบทความ 

          เพื่อนำเสนอและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar parking ที่กำลังได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกและการเข้าถึงพลังงานสะอาดสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่

 

Solar parking แหล่งพลังงานสะอาดที่คนเมืองเข้าถึงได้ 

          ภาคธุรกิจยุคสมัยใหม่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

          ปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีรูปแบบที่นิยมแพร่หลายอยู่ 2 รูปแบบ คือ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ (Solar farm) และ ‘โซลาร์รูฟท็อป’ (Solar rooftop) ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โครงการใหญ่ ๆ นั้นมักจะใช้รูปแบบโซลาร์ฟาร์ม ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับพื้นดินในพื้นที่หลายร้อยหลายพันไร่นอกเมือง ส่วนในเมือง ย่านที่อยู่อาศัย และย่านธุรกิจนั้น นิยมติดตั้งในรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปบน ‘หลังคา’ หรือ ‘ดาดฟ้า’ ของสถานที่นั้น ๆ

          สำหรับรูปแบบหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในลานจอดรถอาจเรียกว่า ‘Solar canopy’ แทน ‘Solar rooftop’ ที่มักจะติดตั้งในพื้นที่สูงกว่า เช่น หลังคาอาคารหรือดาดฟ้า ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะขอเรียกครอบคลุมว่า ‘ระบบ Solar parking’ ที่ส่วนใหญ่โครงสร้างของระบบ Solar parking นั้นจะยกระดับขึ้นมาเพียง แค่ให้ร่มเงาแก่รถยนต์ที่จอดไว้ หากดูแบบผิวเผินแล้วการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนโครงสร้างนี้มีลักษณะคล้ายกับ Solar farm ในเมือง มากกว่า Solar rooftop ที่ต้องติดตั้งในระดับที่สูงบนหลังคาหรือดาดฟ้า

          นอกจากระบบ Solar parking จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าโดยตรงหรือกักเก็บพลังงานไว้จ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ให้แก่ลานจอดรถหรือสถานที่ใกล้เคียงแล้ว อาจจะมีการกักเก็บพลังงานไว้สำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV charging station) ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะไฟฟ้าสามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ตลอดเวลาในขณะที่จอดรถทิ้งไว้ เป็นการประหยัดด้าน ‘ระยะเวลา’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลพลอยได้สำคัญของระบบ Solar parking นี้

          ระบบ Solar parking ถือเป็นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเริ่มได้รับความนิยมนำไปปรับใช้ในสหรัฐอเมริกาอย่างแพร่หลาย รายงานจากเว็บไซต์ EnergySage อ้างข้อมูลจาก Lawrence Berkeley National Laboratory ระบุว่าส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ประมาณ 35 – 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ว่างในเมืองทั้งหมดที่ไม่ใช่ถนนเป็นทางเท้าแต่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์เป็นลานจอดรถ ซึ่งการติดตั้งระบบ Solar parking ให้กับลานจอดรถที่มีอยู่ถือเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบภาคพื้นดินแบบปกติที่พื้นที่นั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมอะไรเลย ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างคือ หลังคาที่ให้ร่มเงาแก่รถยนต์ที่จอดในพื้นที่ของระบบ Solar parking นั้น ก็ยังมีส่วนช่วยให้รถประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย

          ทั้งนี้ หากจอดรถไว้ท่ามกลางแสงแดด เมื่อขับขี่ออกจากลานจอดรถเครื่องปรับอากาศก็จะทำงานหนัก กว่าปกติ ตามข้อมูลของ FuelEconomy.gov ระบุว่าการใช้ระบบปรับอากาศติดรถยนต์ เป็นสาเหตุหลักของการกินน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัด (เช่นเมื่อรถตากแดดในลานจอดรถเป็นเวลานาน) การทำงานของเครื่องปรับอากาศติดรถยนต์จะกินน้ำมันกว่าสภาพปกติมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังคาโซลาร์เซลล์ของระบบ Solar parking จะช่วยบังแดดให้รถยนต์ในวันที่อากาศร้อนได้ดี และภาคธุรกิจในสหรัฐอเมริกาทั่วประเทศกำลังทยอยติดตั้งระบบ Solar parking ที่ให้ร่มเงาแก่รถยนต์ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างพลังงานทดแทนได้อีกทางด้วย ทำให้พวกเขาประหยัดค่าไฟฟ้าหลายพันดอลลาร์สหรัฐ จากกระบวนการนี้ 

 

ทั่วโลกหันมาติดตั้ง Solar parking เพิ่มขึ้น 

          เมือง Santa Cruz ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นตัวอย่างท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา ที่สร้างพื้นที่ระบบ Solar parking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเริ่มติดตั้งระบบนี้ในลานจอดรถสาธารณะ 2 แห่ง (มีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าติดตั้งด้วย) โดยระบบ Solar parking ทั้ง 2 แห่งนี้ ได้ช่วยให้เมืองประหยัดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 73,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี และยังแจกจ่ายพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการทั้งหมดในพื้นที่ใกล้เคียงระบบ และคาดการณ์ว่าตลอดอายุใช้งาน 25 ปี ของระบบ Solar parking ทั้ง 2 แห่งนี้ จะช่วยประหยัดพลังงานและจ่ายพลังงานไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่มหาวิทยาลัย Colorado ก็มีระบบ Solar parking ติดตั้งบริเวณลานจอดรถของ Mountain Research Center เช่นกัน สามารถช่วยให้มหาวิทยาลัยประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้ถึง 21,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังสามารถคืนต้นทุนการติดตั้งระบบถึง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

          ข้อมูลจาก Axpo บริษัทด้านพลังงานทางเลือกของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2019 ระบบ Solar parking ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุโรป ที่ฝรั่งเศส ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง ‘Carrefour’ ที่มี 5,600 ร้านสาขา พนักงานกว่า 115,000 คน และมีลูกค้ามากกว่า 3 ล้านคนต่อวัน ก็เริ่มติดตั้งระบบนี้ในลานจอดรถ 36 สาขาแล้ว ส่วนที่วิทยาลัยแพทย์ในเมือง Nimes เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ก็ได้เพิ่มศักยภาพของลานจอดรถขนาด 17,000 ตารางเมตร ด้วยการติดตั้งระบบ Solar parking ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2.3 MW เลยทีเดียว ดังตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่าระบบ Solar parking เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศแล้ว และสำหรับประเทศไทยเรานั้นมีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบกับมีพื้นที่ลานจอดรถกลางแจ้งจำนวนมาก ก็ไม่ควรมองข้ามการนำระบบนี้มาใช้อย่างจริงจังทั้งในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ต่าง ๆ 

 

บทสรุป

          ปัจจุบันภาคธุรกิจทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจติดตั้ง Solar parking ตามลานจอดรถเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว หลังคาที่ให้ร่มเงาแก่รถยนต์ที่จอดในพื้นที่ของระบบ Solar parking นั้น ยังสามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับรถได้อีกทางด้วย ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น และนับได้ว่าเป็นการใช้พื้นที่ในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับ Solar parking ในประเทศไทยนั้น ถือว่ายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

 

อ้างอิง

Sara Matasci. (2017).  Solar canopy installations: bring shade and clean energy to your parking lot. From https://news.energysage.com/solar-canopy-installations-bring-shade-clean-energy-parking-lot/ 

Axpo. (2019).  Overhead canopies: Solar power from the parking lot. From https://www.axpo.com/ch/en/about-us/magazine.detail.html/magazine/renewable-energy/solar-energy-from-parking-lots.html

Empire Renewable Energy. (n.d).  Parking Lot Solar Canopy Installation. From http://solarbyempire.com/why-solar/solar-options/118-parking-lot-canopies